"สวัสดิการ" สิ่งที่ HR (ส่วนใหญ่) ลืมให้ความสำคัญ

โดย

 

 
คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้ได้สวัสดิการใหม่ๆ


ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดและเก็บรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กร นอกจากค่าจ้างเงินเดือนแล้ว เรื่องของสวัสดิการก็มี
ความสำคัญไม่แพ้กัน องค์กรที่มีระบบการบริหารค่าจ้างและการบริหารสวัสดิการที่ดีจะเป็นองค์กรที่มีแรงดึงดูดให้พนักงาน
อยากเข้ามาทำงานด้วยอย่างมาก เพราะพนักงานจะรู้สึกถึงความมั่นคงในชีวิตและความเป็นอยู่ของเขามากขึ้น เนื่องจาก
ลำพังแค่เงินเดือนค่าจ้างเพียงอย่างเดียวนั้น มันอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในยุคนี้

จากแนวโน้มของการบริหารค่าจ้างและสวัสดิการที่สำรวจทุกปี จาก Think People Consulting Compensation
and Benefits Survey นั้นก็เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า องค์กรที่มีการจัดสวัสดิการที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น
จะเป็นองค์กรที่พนักงานอยากเข้าไปทำงานด้วย ซึ่งก็จะทำให้องค์กรเหล่านี้ มีโอกาสได้คนเก่งเข้ามาทำงานมากขึ้น

สำหรับองค์กรที่เริ่มมีความคิดว่าจะจัดสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงาน ก็เริ่มมีคำถามว่าแล้วองค์กรเราควรมีสวัสดิการด้านไหน
ให้กับพนักงานบ้าง ผมขอให้แนวทางที่เข้าใจง่ายๆ ไว้ดังนี้ คือ เจ็บ จน แก่ ตาย 

อ่านแล้วอาจจะดูน่ากลัว แต่ก็น่าจะทำให้จำได้ง่ายขึ้น โดยขอแยกรายละเอียดประเภทสวัสดิการไว้ดังนี้ 

เจ็บ 
สวัสดิการด้านนี้ก็คือ เรื่องของสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของพนักงาน ที่เป็นลักษณะของการดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วย
ของพนักงานในองค์กร ทุกองค์กรมีสวัสดิการประกันสังคมให้กับพนักงานเป็นพื้นฐาน แต่องค์กรที่จัดสวัสดิการด้านนี้
เพิ่มเติมให้กับพนักงานก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ
• ให้งบประมาณในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากประกันสังคม ในกรณีผู้ป่วยนอก
• ซื้อประกันสุขภาพให้กับพนักงาน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
• จัดสวัสดิการป้องกันการเจ็บป่วย อาทิ การออกกำลังกาย ฟิตเนส ฯลฯ

จน 
สวัสดิการด้านนี้ก็คือ การช่วยเหลือเมื่อพนักงานเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของตนเอง อาทิ เมื่อเกิดปัญหาฉุกเฉินต่างๆ
เช่น การเกิดภัยพิบัติทั้งทางธรรมชาติและเหตุสุดวิสัย จนทำให้พนักงานไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ เนื่องจากขาดที่อยู่
อาศัย ขาดเงินทุนบางส่วน ในกรณีแบบนี้องค์กรก็สามารถจัดสวัสดิการที่ตอบโจทย์เหล่านี้ของพนักงานได้เช่นกัน อาทิ
•เงินกู้ฉุกเฉินให้กับพนักงานในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น โดยไม่คิดดอกเบี้ยใดๆ
•บางองค์กรมีการไปทำข้อตกลงกับทางธนาคาร เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยลง ในกรณีที่พนักงานขององค์กรเข้ามากู้เงินเพื่อ
ซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
•สวัสดิการทุนการศึกษาบุตรพนักงาน

แก่ 
สวัสดิการด้านนี้ก็คือ เมื่อพนักงานมีอายุมากขึ้นหรือเมื่อถึงวัยเกษียณ องค์กรมีการจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้พนักงาน เพื่อให้
มั่นใจได้ว่าพนักงานจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุขเมื่อถึงวัยเกษียณอายุ ซึ่งบางแห่งอาจจะมีการจัดสวัสดิการให้กับ
ครอบครัว (พ่อแม่ พนักงาน) ที่มีอายุมากๆ บางองค์กรก็มีสวัสดิการช่วยเหลือให้ อาทิ
• เงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ที่คำนวณต่างหากจากเงินกองทุกสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย
• เงินเพิ่มพิเศษในกรณีเกษียณอายุ โดยคำนวณเพิ่มพิเศษให้ตามจำนวนปีที่ทำงานกับองค์กร และบวกเพิ่มเข้าไปกับเงิน
เกษียณอายุ
• ประกันชีวิตที่ครอบคลุมไปจนถึงวันที่เสียชีวิต

ตาย 
เป็นสวัสดิการในกรณีที่พนักงานเสียชีวิตในระหว่างที่ทำงานอยู่กับองค์กร ซึ่งองค์กรจัดให้มีเพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัว
ของพนักงานเพื่อให้พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และต้องปรับตัวใหม่ อาทิ
• ประกันชีวิตให้กับพนักงาน ครอบครัวก็จะได้เงินสินไหมทดแทนไป
• เงินก้อนพิเศษให้กับครอบครัวของพนักงาน
• การจัดงานศพให้พนักงาน

รูปแบบสวัสดิการที่กล่าวไปข้างต้น ถือว่าเป็นสวัสดิการที่ครอบคลุมชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานในสภาพปกติที่ควรจะ
เป็น ดังนั้นถ้าองค์กรต้องการจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับพนักงาน ก็สามารถลองนำเอาแนวทางข้างต้นไปปรับและออกแบบ
รูปแบบสวัสดิการพนักงาน ให้สอดคล้องกับช่วงชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานในองค์กรได้



  บางส่วนจากบทความ  “สวัสดิการ” สิ่งที่ HR (ส่วนใหญ่) ลืมให้ความสำคัญ”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายน 2563



HRM/HRD : ครบเครื่องเรื่องค่าตอบแทน : ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร 
วารสาร : HR Society Magazine มิถุนายน 2563


FaLang translation system by Faboba