ไวรัสโควิด-19 และการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

โดย

 

 

ต้องบอกเลยว่า ณ เวลานี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว ใครจะคิดครับว่า ตามที่มีผู้เชี่ยวชาญ
หลายคนได้กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2563 นี้ประเทศไทยจะเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่มีความหนักหน่วงไม่น้อยกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ
ต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 นั้นจะเกิดจากโรคติดต่อจากไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่ความล้มเหลวของธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์
ดั่งที่คาดการณ์กัน

สำหรับสถานที่ประกอบธุรกิจที่ถูกสั่งปิดกิจการโดยผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดนั้น  นายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่
ประกอบธุรกิจดังกล่าว สามารถหยุดจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างของตนเองในระหว่างถูกสั่งปิดได้ เพราะคำสั่งของผู้ว่าราชการ
จังหวัดที่ได้รับจากกฎหมายโรคติดต่อนั้นถือเป็นเหตุสุดวิสัย นายจ้างจึงไม่อาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานได้ และลูกจ้างเอง
ก็ไม่สามารถทำงานแลกค่าจ้างได้เช่นกัน ลูกจ้างจะต้องไปขอรับการเยียวยาจากประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจาก
กองทุนประกันสังคมแทน

คงถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับโครงสร้างองค์กร เพราะไม่ว่าภาวะโรคติดต่อจากไวรัสโควิด-19 นี้จะอยู่กับเรา
ยาวนานแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อใดที่สังคมได้ปรับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจจะกลับมาดีเช่นเดิมในทันที

การปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้แบบธรรมดาทั่วๆ ไป เช่น ให้ลูกจ้างลาแบบไม่ได้รับเงินเดือน ลดวันทำงาน ยกเลิก
สวัสดิการลูกจ้างบางอย่าง หรือลดเงินเดือนนั้นก็ใช่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะกระทำได้โดยง่าย ไม่สามารถกระทำได้โดย
พลการ เนื่องจากถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ดังนั้นลูกจ้างจะต้องให้ความยินยอม
ในการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นด้วย หากลูกจ้างไม่ยินยอมแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็จะไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง ผู้ประกอบ
ธุรกิจอาจจำต้องพึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งอาจใช้
ระยะเวลายาวนานกว่าจะหาข้อสรุปได้ และอาจชี้ช่องให้ฝ่ายลูกจ้างไตร่ตรองที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในอนาคตก็ได้

หากผู้ประกอบธุรกิจตัดสินใจแล้วว่าจะต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดจำนวนลูกจ้างลง จะต้องมีข้อเท็จจริงที่เห็นประจักษ์
เลยว่า หากผู้ประกอบธุรกิจใช้วิธีลดจำนวนลูกจ้างลงแล้วจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าการลดคน
นั้นเป็นเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้อย่างเป็นธรรมได้ กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจจำต้องปิดสาขา หรือยุบตำแหน่ง
บางตำแหน่งลง หรือยุบแผนกอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างองค์กร จึงจำต้องเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดที่เกี่ยวข้องนั้น
ตามกฎหมายแรงงานถือว่า การเลิกจ้างในลักษณะนี้เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังว่า
ผู้ประกอบกิจการกลับรับคนอื่นเข้ามาทำงานแทนลูกจ้าง การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมทันที

นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจควรบอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน สำหรับกรณีการปิดสาขาหรือยุบตำแหน่ง
ดังกล่าว เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสเก็บข้าวของสัมภาระต่าง ๆ และเตรียมตัวเตรียมใจหางานทำใหม่ (ซึ่งน่าจะเป็นเรื่อง
ยากมากๆ ในช่วงนี้) และผู้ประกอบธุรกิจก็จะได้ประหยัดการจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างอีกด้วย


  บางส่วนจากบทความ  “ไวรัสโควิด -19 และการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 210 เดือนมิถุนายน 2563



กฎหมายแรงงาน : เรื่องข้น คน HR : วรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์ 
วารสาร : HR Society Magazine มิถุนายน 2563



FaLang translation system by Faboba