ภาษีเงินได้นิติบุคคลกับการให้ของขวัญปีใหม่

โดย

 


ภาระภาษีจากการให้ของขวัญปีใหม่


ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นภาษีอากรประเมิน โดยการนำรายได้มาหักรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีด้วยเกณฑ์สิทธิเพื่อคำนวณ
กำไรหรือขาดทุนสุทธิ
ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีผลกระทบต่อการให้ของขวัญปีใหม่หรือรายจ่าย นั่นหมายความว่า หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
นิติบุคคลให้ของขวัญปีใหม่กับผู้รับ จะต้องพิจารณาว่าถือเป็นรายจ่ายของกิจการได้หรือไม่ และถือเป็นเงินได้ของผู้รับของ
ขวัญปีใหม่หรือไม่
ในแง่ของภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ กฎหมายภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับรายจ่ายต้องห้ามมาตรา 65 ตรี
เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ของขวัญมีดังนี้
“(3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เว้นแต่
(ก) รายจ่ายซึ่งเป็นเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้หักได้ไม่เกิน
5 หมื่นบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
(ข) รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้หักได้
ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติ
รัฐมนตรี ให้หักได้อีกในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ”
หากพิจารณาจากการให้ของขวัญปีใหม่ว่าเป็นรายจ่ายส่วนตัว การให้โดยเสน่หาหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจความหมายของ
รายจ่ายส่วนตัว การให้โดยเสน่หา ซึ่งหมายถึง รายจ่ายที่กิจการจ่ายไปเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่มีระเบียบกำหนดไว้ อันเป็น
เรื่องเฉพาะตัวบุคคลนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง  สิ่งสำคัญหากการให้ของขวัญ      ปีใหม่เป็นการให้เนื่องในขนบธรรมเนียมประเพณีถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร
“(4) ค่ารับรองหรือค่าบริการส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง”

การให้ของขวัญปีใหม่จะถือเป็นการให้สิ่งของเพื่อการรับรองลูกค้าหรือค่ารับรองนั่นเอง ซึ่งพิจารณาจากมาตรา 65 ตรี (4)
ค่ารับรองหรือค่าบริการถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ เว้นแต่ค่ารับรองนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของ
กฎกระทรวงฉบับที่ 143 ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
1. ค่ารับรองหรือค่าบริการที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 2
ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5
2. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคล
ซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการต้องมิใช่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เว้นแต่ลูกจ้างดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้า
ร่วมในการรับรองหรือการบริการนั้นด้วย
3. ค่ารับรองหรือค่าบริการ ต้อง
(1) เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร
ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น หรือ
(2) เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มี
การรับรองหรือการบริการ

4. จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้อง ไม่เกินร้อยละ 0.3
ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใด ในรอบระยะเวลาบัญชีหรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมา
หักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
5. ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นต้องมีกรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว
เป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรองหรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรอง
หรือเป็นค่าบริการ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร
สิ่งที่กิจการจะต้องพิจารณาในการให้ของขวัญปีใหม่ก็คือ การให้เป็นสิ่งของต้องไม่เกินคนละ 2,000 บาทในแต่ละคราว
มิฉะนั้นจะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ

“(13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ”
รายจ่ายที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามประเภทหนึ่งก็คือ รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ประเด็นที่ต้อง
พิจารณาก็คือ การให้ของขวัญปีใหม่เป็นการให้ตามขนบธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไปและมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน
สมควร ย่อมถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวข้องกับกิจการ ถือเป็นรายจ่ายได้


  บางส่วนจากบทความ “ภาระภาษีจากการให้ของขวัญปีใหม่”
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน... วารสาร CPD & Account ปีที่ 17 ฉบับที่ 205  เดือนมกราคม  2564



Accounting Style : Tax&Accounting : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
วารสาร : CPD&ACCOUNT มกราคม  2564


FaLang translation system by Faboba