เทคนิคการสร้างพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพในการทำ Onboarding

โดย

 

 
การสร้างพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพในการทำ Onboarding


หนึ่งในวิธีการดูแลบุคลากรในองค์การก็คือการทำ Onboarding Program ซึ่งพี่เลี้ยงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้
การทำ Onboarding Program ประสบความสำเร็จ โดย ‘พี่เลี้ยง’ หรือ ‘Mentor’ คือบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือรุ่นน้อง
หรือช่วยเหลือบุคคลในองค์การที่มีประสบการณ์ในการทำงานน้อยกว่า ได้แก่ พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานในองค์การ
หรือบุคลากรใหม่ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งงานใหม่ โดยจะเรียกคนกลุ่มที่ต้องดูแลว่า Mentee

การกำหนดพี่เลี้ยงสามารถเป็นบุคคลที่อยู่ภายในหน่วยงานเดียวกันหรือต่างหน่วยงานก็ได้ โดยองค์การจะต้องกำหนดเกณฑ์
การคัดเลือกให้ชัดเจน ซึ่งผู้เขียนนำเสนอเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกพี่เลี้ยงในการดูแลพนักงาน/ผู้บริหารใหม่ ดังนี้
• มีประสบการณ์การทำงานในองค์การประมาณ 3 ปีขึ้นไป
• มีอายุตัวมากกว่า Mentee ประมาณ 2 ปีขึ้นไป
• เป็นเพศเดียวกันกับ Mentee
• เป็นบุคคลที่มีความประพฤติดี
• ปฏิบัติตัวตามระเบียบข้อบังคับขององค์การ ไม่เคยทำผิดวินัยองค์การ
• มีความคิดเชิงบวก (Positive Thinking) และมีความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)
• มีมนุษยสัมพันธ์และเข้ากับคนอื่นๆ ได้ดี
• เป็นคนที่รักษาความลับ ไม่เปิดเผยข้อมูลกับผู้อื่น
• มีความพร้อมในเรื่องเวลาและการเป็นพี่เลี้ยง

การกำหนดพี่เลี้ยง ในการดูแล Mentee ในระยะเริ่มแรกผู้เขียนเสนอว่า ให้ทำแบบ 1:1 นั่นหมายถึง พี่เลี้ยง 1 คน ดูแล
Mentee ได้ 1 คน และเมื่อบุคคลนั้นคุ้นเคยกับบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงแล้ว สามารถเพิ่มจำนวน Mentee ได้ในปีถัดไปใน
รูปแบบ 1:3 นั่นคือ พี่เลี้ยง 1 คน ดูแล Mentee ไม่เกิน 3 คนภายในระยะเวลา 1 ปี

ดังนั้นกระบวนการ Onboarding Program จะสำเร็จไม่ได้ ถ้าองค์การไม่ได้กำหนดพี่เลี้ยงสำหรับการดูแลพนักงานใหม่
หรือผู้บริหารใหม่ โดยเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการสรรหาคัดเลือกพี่เลี้ยงเพื่อ
• พี่เลี้ยงจะช่วยทำให้พนักงานใหม่และผู้บริหารใหม่ปรับตัวกับวัฒนธรรมองค์การ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และ
การทำงานร่วมกับผู้อื่นทั้งภายในและภายนอกองค์การได้ไว
• พี่เลี้ยงจะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับพนักงานใหม่และผู้บริหารใหม่ ซึ่งต้องมีเวลาในการพูดคุย รับฟังปัญหาหรือความรู้สึก
ที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจที่มีเพื่อนคู่คิด (Buddy) ที่คอยเป็นเพื่อนทางใจในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น
กับพวกเขา
• พี่เลี้ยงทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้พนักงานใหม่และผู้บริหารใหม่เรียนรู้ และพัฒนาความสามารถของตนเองให้ไวและ
ตรงกับความสามารถที่ผู้บังคับบัญชากำหนดขึ้น ทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในการทำงานและเกิดพลังในการหาวิธี
การทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
• พี่เลี้ยงเป็นกาวใจในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีของ Mentee กับบุคคลต่างๆ โดยการพูดคุยให้บุคคลที่ต้องทำงานร่วม
กับ Mentee เกิดความเข้าใจลักษณะนิสัยและสไตล์การทำงานของ Mentee เพื่อให้การทำงานของ Mentee กับบุคคล
เหล่านั้นเป็นไปได้ง่ายและไวขึ้น
• พี่เลี้ยงช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่ดีของ Mentee ที่มีต่อองค์การ ทำให้ Mentee เกิดความรู้สึกดีต่อ
การทำงานในองค์การ ซึ่ง Mentee จะเป็นกระบอกเสียงในการพูดถึงองค์การกับบุคคลอื่นในเชิงบวกเมื่อพวกเขารู้สึกดี
กับองค์การเช่นกัน
• พี่เลี้ยงจะทำให้ Mentee เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (Value) จากการที่องค์การใส่ใจดูแลพวกเขาอย่างจริงจัง
พวกเขารับรู้ได้ว่าองค์การตั้งใจและมีความปรารถนาที่ดีในการต้อนรับ และดูแลพวกเขาจากการกำหนดให้มีพี่เลี้ยงที่
คอยช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของพวกเขา
• พี่เลี้ยงที่มีคุณภาพจะทำให้ Mentee เกิดความรู้สึกผูกพันต่อการทำงานในองค์การ (Employee Engagement)
และความรู้สึกนี้จะส่งผลต่อการสร้างความผูกพันที่ดีกับลูกค้า (Customer Engagement) ด้วยเช่นกัน
• สร้างวัฒนธรรมการมีระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) พบว่ามีการบอกต่อของบุคคลที่เป็นพี่เลี้ยงและ Mentee
ซึ่งจะทำให้บุคลากรคนอื่นๆ สนใจที่จะเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยง จนเกิดการสร้างระบบพี่เลี้ยงจากรุ่นสู่รุ่นแบบอัตโนมัติ


  บางส่วนจากบทความ  “เทคนิคการสร้างพี่เลี้ยงที่มีคุณภาพในการทำ Onboarding”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 222 เดือนสิงหาคม 2564

HRM/HRD : Performance Management : ดร.อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์
วารสาร : HR Society Magazine สิงหาคม 2564



FaLang translation system by Faboba