Well-Being ที่ดีของพนักงาน” อีกหนึ่งประเด็นที่องค์กรควรให้ความสำคัญในยุคนี้

โดย

 

 
5 ปัจจัยในการสร้าง Well-being ที่ดีของพนักงาน


หลายคนเมื่อพูดถึงคำว่า Well-Being ก็มักจะคิดถึงแค่ ชีวิตที่มีความผาสุกหรือการมีความสุข และคิดแค่เพียง
เรื่องของเงินหรือไม่ก็สุขภาพ เพราะเป็นสองเรื่องที่พอจะวัดกันได้จริงๆ จังๆ แต่จากผลงานวิจัยและหนังสือที่ชื่อว่า
“Well-Being” โดย Tom Rath และ Jim Harter ที่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้และได้ผลออกมาว่า มีปัจจัยในการสร้าง
Well-Being อยู่ 5 ปัจจัย ซึ่งหากเราต้องการชีวิตที่มี Well-Being ก็ต้องสร้างจาก 5 ปัจจัยนี้ มีอะไรบ้างลองมาดูกันครับ

• Career Well-Being ในด้านปัจจัยทางอาชีพการงาน สามารถมองได้ทั้งด้านความรักชอบในงานของพนักงาน
แปลว่า องค์กรต้องคัดเลือกพนักงานที่มีความชอบในงานที่ทำ นอกจากนี้ก็ต้องสามารถทำให้พนักงานเห็นถึงความเติบโต
ในสายอาชีพนั้นๆ ว่า ถ้าทำงานในองค์กรไปนานๆ แล้วจะเติบโตไปทางไหนได้บ้าง และมีโอกาสสักแค่ไหนที่จะเติบโต
รวมทั้งถ้าอยากจะเติบโตจะต้องทำอะไร ซึ่งถ้าองค์กรมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ พนักงานก็จะรู้สึกว่า ตัวเองกำลังทำงาน
ที่นี่มีความมั่นคงและมีโอกาสเติบโต ก็จะทำให้เกิดความทุ่มเทและอยากสร้างผลงาน โดยหนทางที่องค์จะสามารถสร้าง
Career Well-Being ให้เกิดขึ้นได้ก็คือ องค์กรต้องมีระบบ Career Path ที่ชัดเจน มีระบบพัฒนาให้พนักงานสามารถ
เติบโตตามสายอาชีพของตัวเองได้ และสามารถทำให้พนักงานมองเห็นอนาคตของตัวเองได้อย่างชัดเจน

• Social Well-Being ในด้านปัจจัยทางสังคม เพื่อนพ้อง หัวหน้า เหล่านี้องค์กรสามารถทำให้พนักงานรู้สึกถึง
การมีสังคมที่ดีได้หรือไม่ เพราะการมีเพื่อนร่วมงานที่ดี ทำงานกันเป็นทีม มีหัวหน้าที่ดีซึ่งเข้าใจลูกน้อง มีกิจกรรมร่วมกัน
เพื่อสร้างสังคมและทีมงานที่ดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความสุขใจ เพราะคนเราเป็นสัตว์สังคมอยู่แล้ว ดังนั้น
ย่อมต้องการเพื่อน ต้องการมีคนพูดคุย เห็นใจกัน ถ้าองค์กรสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ พนักงานก็จะรู้สึกถึงความสุข
ในการทำงาน เมื่อจะคิดลาออกก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะเขาอาจจะไม่ได้เจอสังคมแบบนี้ในที่ทำงานอื่นก็เป็นได้ ดังนั้น
ระบบที่องค์กรควรจะมีเพื่อให้เกิด Social Well-Being ที่ดีคือ การจัดกิจกรรมกลุ่มต่างๆ และการสร้างบรรยากาศที่ดี
ในการทำงานร่วมกัน โดยเริ่มจากผู้นำองค์กรจะต้องเป็นคนแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ให้เห็นก่อน และสร้างความตระหนักรู้
แก่ผู้บังคับบัญชาทุกระดับถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี รวมทั้งการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย
ปรึกษาหารือกันระหว่างพนักงานและหัวหน้า นอกจากนี้ยังมีการสร้างสังคมเพื่อนร่วมงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสต่างๆ
ซึ่งจะทำให้ได้ทั้งสังคมภายใน และเป็นประโยชน์ต่อบุคคลภายนอกด้วย

• Financial Well-Being ปัจจัยที่ 3 เป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ โดยองค์กรจะต้องมีระบบการบริหารค่าตอบแทนที่
แข่งขันได้ กล่าวคือ ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป ทำให้พนักงานรู้สึกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าตอบแทนเมื่อทำงาน เพราะ
องค์กรจ่ายในระดับที่แข่งขันได้อยู่แล้ว ซึ่งนอกจากค่าตอบแทนแล้ว ก็ยังมีเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ด้วย โดยถ้าพนักงาน
รู้สึกว่าค่าตอบแทนและสวัสดิการที่บริษัทให้ อยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันได้และมีความเป็นธรรม เขาก็จะยินดีทุ่มเททำงานให้
องค์กรมากขึ้น ดังนั้นการสร้าง Financial Well-Being ให้เกิดขึ้นได้ องค์กรต้องมีการวางระบบบริหารค่าตอบแทน
โครงสร้างเงินเดือน ระบบค่าตอบแทนตามผลงาน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือน โบนัส หรือแรงจูงใจต่างๆ ให้สอดคล้อง
กับผลงาน และมีความเป็นธรรมทั่วทั้งองค์กร อีกทั้งต้องมีระบบสวัสดิการที่สามารถช่วยเหลือพนักงานในกรณีที่พนักงาน
เกิดมีปัญหาทางด้านการเงิน เช่น การกู้ยืมเงินในกรณีต่างๆ เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงความมั่นคงทางการเงินขณะทำงาน
อยู่กับองค์กร

• Physical Well-Being ปัจจัยที่ 4 คือเรื่องสุขภาพกายและใจของพนักงาน โดยปัจจุบันถ้าจะประยุกต์แนวคิดนี้
ไปใช้ในการสร้างความรู้สึกผูกพัน ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้าง Work-Life Balance หรือการที่องค์กรสนับสนุนให้
พนักงานสามารถทำงานและใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างสมดุลนั่นเอง โดยให้ความสำคัญเรื่องความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน
การให้เวลาพนักงานได้ใช้ชีวิตส่วนตัวเพื่อพัฒนาสุขภาพกายและจิตใจ รวมถึงมีเวลาให้ครอบครัว ดังนั้นระบบสวัสดิการ
และการทำงานแบบยืดหยุ่นจึงเกิดขึ้นในองค์กรที่ต้องการจะสร้าง Physical Well-Being ให้กับพนักงาน นอกจากนี้
ก็ควรจะมีสวัสดิการทางด้านสุขภาพ เช่น ฟิตเนส การพักผ่อนระหว่างการทำงาน กิจกรรมลดความเครียดจากการทำงาน
การส่งเสริมสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรง เป็นต้น

• Community Well-Being ปัจจัยสุดท้ายคือ พนักงานรู้สึกว่าทำงานแล้วมีส่วนทำให้สังคมรอบข้างที่ตัวเองอยู่นั้น
ดีขึ้นไปด้วย โดยระบบที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือเรื่อง CSR ที่ปัจจุบันหลายๆ บริษัทกำลังพยายามสร้าง โดยเป็นการไปช่วย
เหลือสังคมในแง่มุมต่างๆ และสนับสนุนให้พนักงานได้มีส่วนร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น บางบริษัทถ้าพนักงานต้องการไปเลี้ยง
อาหารกลางวันคนชรา หรือเด็ก บริษัทจะอนุญาตให้ไปโดยที่ไม่ตัดค่าจ้าง และไม่ต้องเสียวันลาใดๆ เพราะถือว่าเป็น
การทำเพื่อสังคม และบริษัทเองก็สนับสนุนให้ทำอย่างเต็มใจเช่นกัน

นอกจากประเด็นของ Well-Being ที่ได้กล่าวไป 5 ข้อข้างต้นแล้ว ส่วนใหญ่เรามักจะลืม Well-Being ในอีกมุมหนึ่ง
ก็คือ Mental Well-Being หรือความรู้สึกที่ดีทางจิตใจของพนักงานที่มีต่อการทำงานให้กับองค์กร และจะเห็นได้ว่า
พนักงานในยุคนี้มักมีความเครียดและความกดดัน ทั้งจากตัวงาน จากเจ้านาย และจากสภาพแวดล้อมต่างๆ จนทำให้
บางคนเกิดอาการ Burnout หรือหมดไฟในการทำงาน ทำให้องค์กรสมัยใหม่หันมาให้ความสำคัญในเรื่อง Mental
Well-Being ของพนักงานมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพจิตใจของพนักงาน และดูแลให้พนักงานมีความสุข
ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง 


  บางส่วนจากบทความ  “Well-Being ที่ดีของพนักงาน” อีกหนึ่งประเด็นที่องค์กรควรให้ความสำคัญในยุคนี้”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 222 เดือนสิงหาคม 2564

HRM/HRD : ครบเครื่องเรื่องค่าตอบแทน : ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
วารสาร : HR Society Magazine สิงหาคม 2564



FaLang translation system by Faboba