มนุษย์เงินเดือนควรจัดการเงินอย่างไรดีในภาวะวิกฤต

โดย

 

 


ขั้นตอนแรก ประเมินสถานะการเงินและความสามารถของตัวเองก่อน
การประเมินในส่วนนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนครับ นั่นคือ กระแสเงินสดในแต่ละเดือน และ สินทรัพย์ที่เรามี โดยผมแนะนำให้เริ่ม
จากการ เช็กกระแสเงินสดก่อน ซึ่งถ้าหากใครได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายคงจะพอเห็นข้อมูลว่ากระแสเงินสดในปัจจุบัน
เป็นอย่างไร แต่ถ้าใครไม่ได้ทำก็ลองประมาณคร่าวๆ จากสถานการณ์ของตัวเองดูครับ

• เงินสดรับ : จากรายได้ประจำที่ได้มา หรือเงินสดอื่นๆ ที่ได้รับ
• เงินสดจ่าย : จากค่าใช้จ่าย และ หนี้สินที่ต้องชำระในแต่ละเดือน

หากลองคำนวณแล้ว กระแสเงินสด = เงินสดรับ - เงินสดจ่าย ยังคงเป็นตัวเลขบวกอยู่ แม้ว่าจะน้อยแค่ไหน ก็ยัง
ถือว่าดีครับ เพราะเราน่าจะไปได้ไหว แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่มั่นใจในตัวเลขที่เห็น หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะ
ตัวเลขมีแนวโน้มติดลบ อันนี้ต้องพิจารณาต่อว่าจะแก้ยังไงดี ระหว่าง เพิ่มกระแสเงินสดรับด้วยการหารายได้เพิ่ม
(ซึ่งเป็นคำตอบที่ง่าย แต่ทำยากสำหรับหลายคนในตอนนี้) หรือลดกระแสเงินสดจ่ายด้วยการลดรายจ่ายต่างๆ เช่น

• ลดรายจ่ายที่ไม่ได้ใช้แน่ๆ ในช่วงนี้ อาจจะเป็น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าสมัครสมาชิกรายเดือน รายปี บางอย่าง
ที่เราสมัครไว้แต่ไม่รู้ ตรงนี้เช็กและปรับลดตามความจำเป็น ลดแพ็กเกจลงได้ จะได้ไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ แม้จะดู
เหมือนว่าอาจจะได้เงินคืนมาไม่มาก แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลยครับ
• ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ถ้าจ่ายไม่ไหวให้คุยกับทางตัวแทนว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง หรือชะลอการจ่ายได้แบบไหนบ้าง
หรือหยุดจ่ายแล้วใช้มูลค่าเงินสำเร็จ ขยายเวลา ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมดูครับ
• ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในตอนนี้ สิ่งที่สามารถประหยัดได้ ค่อยๆ ลดและทยอยจ่ายไปตามเวลาของมัน รวมถึงของก้อน
ใหญ่ต่างๆ ที่อาจจะวางแผนซื้อไว้ ให้ลองคิดทบทวนอีกทีหนึ่งครับ
• ลดหนี้ที่ต้องชำระลงได้หรือไม่ เช่น คุยกับเจ้าหนี้ หรือมีมาตรการใดๆ ช่วยเหลือหนี้จากสถาบันการเงินให้รีบติดต่อและ
สอบถามครับ เพื่อที่เราจะได้มีกระแสเงินสดกลับมามากที่สุดก่อนครับ แม้ว่าบางทีอาจจะต้องจ่ายนานขึ้นหรือดอกเบี้ย
มากขึ้นก็ตาม แต่ถ้าประเมินสถานการณ์แล้วรู้สึกว่าไม่ไหว ยังไงก็ต้องเลือกให้กระแสเงินสดเป็นบวกก่อนครับ

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องประเมิน ณ ตอนนี้คือสินทรัพย์ที่มีอยู่ครับ ว่าเราพอมีอะไรที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดได้บ้าง เช่น

• ประกันชีวิต สามารถขอกู้ตามสิทธิ์กรมธรรม์ได้หรือไม่ (เสียดอกเบี้ย)
• ขายทรัพย์สินต่างๆ ที่เรามี ซึ่งสามารถจะเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดได้ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าสามารถทำได้ เราควรทำ
เช่นกันครับ เดี๋ยวนี้มีช่องทางขายที่ค่อนข้างง่ายในระดับหนึ่ง อย่างช่องทางออนไลน์ครับ
• กองทุนลดหย่อนภาษีอะไรที่ครบกำหนด ขายได้ หรือวางแผนได้ ก็อาจจะควรพิจารณาขายเพื่อเอากระแสเงินสด
กลับมาก่อนครับ

นอกจากนี้แล้วอาจจะต้องปรึกษาทางบริษัทว่า มีนโยบายช่วยเหลือพนักงานไหม (ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบและนโยบายบริษัท)
เพราะบางบริษัทก็อาจจะมีเงินช่วยเหลือพิเศษ หรือ เงินกู้ยืมพนักงาน (Staff loan) ให้ครับ

ขั้นตอนสอง มองไปข้างหน้า
สิ่งที่แนะนำให้ต้องมองต่อไปคือ แล้ว ณ ตอนนี้เรามีอะไรบ้าง? เงินคงเหลือที่มีอยู่คือเท่าไหร่ รวมถึงรายได้และรายจ่าย
ข้างหน้าที่ต้องไปต่อ และอาจจะต้องรีบคิดรอว่า ถ้ากระแสเงินสดไม่พอ เราจะทำอย่างไรต่อไปดี
• เงินในมือที่มี ทุกวันนี้มีเงินสด (รวมถึงฝากธนาคาร) คงเหลือเท่าไหร่ที่จะพอใช้จ่ายไปถึงอนาคตข้างหน้า มีเงินสำรอง
ฉุกเฉินหรือไม่ ตรงนี้จะเป็นเหมือนตัวช่วยอีกทางที่ทำให้เราพอจะจัดการอะไรได้ง่ายขึ้นครับ
• รายจ่ายที่ต้องจ่าย ต่อจากนี้ไป รายจ่ายยังเป็นเท่าเดิมไหม มีอะไรที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมแล้วสามารถเลื่อนไปได้หรือเปล่า
ลองเช็กให้ดี เพราะถ้าหากมีรายจ่ายฉุกเฉินหรือเงินก้อนใหญ่ที่ลืมคิดไป เราก็จะได้แก้ไขได้ทันเวลาครับ
• งดเสี่ยงในทุกกรณี ในกรณีที่มีเงินก้อนนี้เป็นก้อนสุดท้าย ผมไม่แนะนำให้เอาไปเสี่ยงในทุกกรณี โดยเฉพาะการลงทุน
หรืออะไรก็ตามที่เหมือนจะเป็นโอกาสพลิกชีวิต เพราะบางทีอาจจะกลายเป็นถูกมิจฉาชีพหลอกได้ครับ

ขั้นตอนสาม สำหรับคนที่ไหว
สำหรับคนที่ไหวอยู่ หรือไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หากเป็นไปได้อยากให้ลองใช้จ่ายกับธุรกิจรายย่อยให้เพิ่มขึ้น ช่วยเหลือ
ร้านค้าในท้องถิ่นต่าง ๆ หรือสนับสนุนธุรกิจคนที่เรารู้จัก เพื่อน มิตรสหาย คนที่เราอยากสนับสนุน เพื่อให้เงินหมุนเวียนและ
ช่วยเหลือต่อ ๆ กันไปครับ หากยังมีกำลังช่วยเหลืออะไรใครได้ ก็ช่วยกันไปครับ แรงเงินไม่ได้ แรงงานพอไหว หรือ
อย่างน้อยก็กำลังใจคนรอบข้างกันไว้นะครับ




  บางส่วนจากบทความ  “มนุษย์เงินเดือนควรจัดการเงินอย่างไรดีในภาวะวิกฤต”
  อ่านบทความเต็มได้ใน... วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 222 เดือนสิงหาคม 2564

Lifestyle: Smart Money For Salaryman : Taxbugnoms
วารสาร : HR Society Magazine สิงหาคม 2564



FaLang translation system by Faboba