ปกป้องข้อมูล! ก่อนสายเกินแก้ ด้วย DLP ระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล

โดย

 

 
  ปกป้องข้อมูล! ก่อนสายเกินแก้ ด้วย DLP ระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล


ในยุคที่ข้อมูลมีความสำคัญต่อทั้งตัวบุคคลและองค์กร สามารถสร้างมูลค่า ประโยชน์ หรือแม้แต่ความเสียหายอย่างคาดไม่ถึงได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และบุคคลที่ใช้ข้อมูลนั้น ๆ ทำให้ปัจจุบันมีทั้งกฎหมายและระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องข้อมูลจากภัยคุกคามรูปแบบต่าง ๆ โดยเจ้าของข้อมูลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถวางใจได้ว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นจะได้รับการดูแลอย่างดี และไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ
ดังนั้นเพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญ ๆ ขององค์กร รวมถึงข้อมูลสำคัญจำนวนมากของงานบัญชี ซึ่งถือเป็นการป้องกันภัยก่อนสายเกินแก้ เราจะพาไปรู้จักกับ ระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล หรือ Data Loss Prevention (DLP)
Data Loss Prevention (DLP) คืออะไร?
Data Loss Prevention (DLP) คือ ส่วนหนึ่งของระบบความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อลดความเสี่ยงให้กับองค์กร กรณีที่มีการถูกโจรกรรมจากบุคคลภายนอกและจากคนภายในองค์กรเอง
ข้อมูลภายในที่มักถูกโจรกรรมหรือรั่วไหลจนสร้างความเสียหายให้กับองค์กร เช่น ข้อมูลบัญชีการเงิน ข้อมูลลูกค้า เอกสารสัญญา ข้อมูลแผนงานหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นความลับ ข้อมูลสูตร ส่วนผสม หรือวิธีการผลิต รวมถึงข้อมูลผู้บริหารหรือบุคลากรภายในองค์กร
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้คือ กระแสข่าวเงินหายจากบัญชี และมีการทำธุรกรรมผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของบัญชีจำนวนมาก รวมมูลค่ามากถึง 130 ล้านบาท เป็นปัญหาที่แบงก์ชาติ ธนาคาร และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องหันมายกระดับมาตรการป้องกันต่าง ๆ อย่างรัดกุมที่สุด
เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนกรณีตัวอย่างที่เป็นอีกแรงกระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลจากภัยคุกคาม และหยุดมองข้ามความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ตาม และถ้ามองอย่างรอบด้านแล้วจะพบว่าหากวันนี้องค์กรคุณยังไม่มีระบบป้องกันภัยที่ดีพอ ก็ถือว่าอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงต่อภัยคุกคามทั้งจากบุคคลภายในและภายนอก ดังนั้นการมีระบบ DLP จะช่วยลดโอกาสการรั่วไหลของข้อมูล รวมถึงข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ของงานบัญชี ซึ่งถือว่าเป็นการลดความเสียหายให้กับองค์กรไปด้วย
คุณสมบัติเด่นของ DLP มีอะไรบ้าง?
• ควบคุมข้อมูลทั้งหมด วิเคราะห์และคัดแยกความประเภทความสำคัญของข้อมูล
• จัดลำดับความสำคัญ จำแนกสิทธิพร้อมควบคุมการเข้าถึงและส่งข้อมูลของแต่ละบุคคล
• ตรวจจับและป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญจากช่องทางต่างๆ เช่น e-mail, website และ USB Port
• ควบคุมข้อมูลรั่วไหลจากการรีโมทระยะไกล เช่น TeamViewer, RDP, Radmin, AnyDesk
• ตรวจสอบช่องทางการถ่ายโอนข้อมูล
• รายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อมูลให้ผู้รับผิดชอบทราบความเคลื่อนไหว
ขั้นตอนการทำงานของ DLP
1. ข้อมูลต่างๆ จะถูกควบคุมและป้องกันจาก DLP
2. DLP จะสแกนหาข้อมูลที่ถูกละเมิดหรือกระทำเกินสิทธิ์จากผู้ใช้งาน
3. DLP แจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลข้อมูล
4. ผู้ดูแลข้อมูลประเมินอนุญาตหรือไม่อนุญาตการกระทำของผู้ใช้งาน เช่น การคัดลอก ลบ แก้ไข หรือส่งออกข้อมูล
ทำไมองค์กรต้องเลือกใช้ DLP?
เพราะข้อมูลมีความสำคัญกับองค์กร ระบบป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรควรมีเช่นกัน ตราบเท่าที่องค์กรยังต้องใช้ข้อมูลนั้นสร้างความเจริญก้าวหน้า บริหารกิจการ หรือใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งในสายธุรกิจ รวมถึงเพื่อให้บริการลูกค้าหรือคู่ค้าคนสำคัญขององค์กร
โดยองค์กรที่เลือกใช้ DLP จะช่วยลดความเสี่ยงจากสาเหตุต่อไปนี้
1. การส่งออกข้อมูลทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของบุคลากรภายในองค์กร คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและระวังภัยจากภายนอกเป็นหลัก จนหลงลืมไปว่าบุคคลภายในองค์กรเองก็มีโอกาสที่จะเป็นภัยกับข้อมูลและองค์กรได้ไม่แพ้กัน แม้จะกระทำโดยไม่รู้ตัวหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม เพราะเพียงแค่คลิกเดียวก็สร้างความเสียหายได้แล้ว แต่ DLP จะช่วยบล็อกไว้ก่อนที่ข้อมูลจะถูกส่งออก
2. การขโมยหรือลบข้อมูลจากบุคคลผู้ไม่หวังดี สาเหตุนี้มักมาจากบุคคลภายนอกที่ต้องการสร้างความเสียหายให้กับองค์กร โดยอาจมาในรูปแบบของการแฮกเข้าระบบแล้วทำการแก้ไข คัดลอก หรือลบข้อมูล ดังนั้นการใช้งาน DLP ในองค์กรจะสามารถช่วยกำหนดสิทธิ์การเข้าถึง ป้องกันการคัดลอกและส่งออกข้อมูล พร้อมแจ้งเตือนผู้ดูแลให้ทราบความเคลื่อนไหวในการกระทำเกี่ยวกับข้อมูลนั้น ๆ
ประโยชน์ของ DLP ต่อองค์กร
1. ช่วยลดความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหลจากการส่งออก การมีช่องทางการส่งข้อมูลที่หลากหลาย และในบางองค์กรก็เปิดสิทธิให้พนักงานสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงถือเป็นความเสี่ยงที่ข้อมูลสำคัญจะถูกส่งออกสู่ภายนอกได้ง่าย ๆ ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจผ่านทางอินเทอร์เน็ต หากองค์กรไม่มีระบบป้องกันข้อมูลที่ดีพอ
2. ช่วยป้องกันการคัดลอก แก้ไข หรือลบข้อมูลสำคัญ ข้อมูลสำคัญที่ถูกเก็บไว้ในรูปแบบของไฟล์ข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ โดยไม่มีการเข้ารหัสหรือกำหนดสิทธิการเข้าถึง ย่อมเสี่ยงต่อการถูกทำให้เสียหายหรือทำลายโดยผู้ไม่หวังดี ดังนั้น DLP จะช่วยป้องกันการคัดลอก แก้ไข หรือลบจากบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำหรือเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ๆ นั้น
3. ช่วยให้คุณสามารถกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลภายในได้ โดยผู้ดูแลหรือผู้มีอำนาจในข้อมูล สามารถกำหนดการให้สิทธิเข้าถึงข้อมูลแต่ละส่วนตามความสำคัญของบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ให้บุคคลที่ 1 มีสิทธิเข้าถึงทั้งหมด และกระทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข คัดลอก ลบ หรือส่งต่อ ส่วนบุคคลที่ 2 อาจทำได้เพียงแค่การเปิดดูเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิแก้ไข คัดลอก ลบ หรือส่งต่อข้อมูลได้ หากมีใครกระทำเกินจากสิทธิที่ได้รับอนุญาต ระบบจะป้องกันการกระทำนั้น และแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลข้อมูลหรือผู้มีสิทธิอนุญาตเกี่ยวกับข้อมูลทราบทันที
4. ลดความเสี่ยงผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
เพื่อป้องกันการกระทำผิด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การใช้ระบบ DLP จะช่วยป้องกันการกระทำผิดทางกฎหมายและผิดต่อเจ้าของข้อมูล เพราะมีระบบการเข้ารหัสการเข้าถึงข้อมูล จำกัดสิทธิ์การเข้าถึง และแจ้งเตือน ทำให้ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นความลับแค่ไหนก็มั่นใจได้ว่าปลอดภัยอย่างแน่นอน
5. ผู้บริหารหมดห่วงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล
การมีระบบ DLP เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยของข้อมูล จะช่วยให้ทราบทุกความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อมูลที่เก็บรักษาหรือต้องการปกป้อง เสมือนมีกล้องวงจรปิดคอยสอดส่องตลอดเวลา ดังนั้นคุณจึงมีเวลาไปสำรวจตลาด คู่แข่ง และคิดแผนใหม่พัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างคล่องตัว
เมื่อภัยคุกคามมีมาจากหลายช่องทาง ทั้งในรูปแบบภัยไซเบอร์ และภัยจากตัวบุคคล โดยเฉพาะจากบุคคลภายในที่ใกล้ตัวที่สุด ดังนั้นจึงควรมีเครื่องมือช่วยป้องกัน ตรวจจับ และปกป้องข้อมูลอย่างรัดกุม จะช่วยตัดต้นเหตุปัญหาและเตือนภัยก่อนสายเกินแก้ หยุดปัญหาความเสียหายทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สิน
สนใจปรึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการติดตั้งระบบ DLP สอบถามได้ที่ บริษัท ดีไอทีซี จำกัด (DiTC) โทรศัพท์ : 0 2555 0999 หรือไลน์ @ditc หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ditc.co.th/dlp-solution

   
      บางส่วนจากบทความ "ปกป้องข้อมูล! ก่อนสายเกินแก้ ด้วย DLP ระบบป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล"
      อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41  ฉบับที่ 483 เดือน ธันวาคม 2564
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index





Smart Accounting : IT for Accountant : DiTC
วารสาร : เอกสารภาษีอากร  ธันวาคม 2564



FaLang translation system by Faboba