ผลประโยชน์พนักงาน 4 ประเภท

โดย

 


 
ผลประโยชน์พนักงาน 4 ประเภท


การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีบุคลากรมาดำเนินงาน บุคลากรเหล่านี้ย่อมต้องได้รับผลตอบแทนจากองค์กรที่ทำงานให้ ทุกกิจการจึงต้องมีการว่าจ้างบุคลากรให้เหมาะสมกับโครงสร้างขององค์กร ซึ่งทุกธุรกิจย่อมมีการกำหนดคุณสมบัติและวิธีการคัดเลือกเพื่อว่าจ้างบุคคลให้มาทำงานในบทบาทหน้าที่ที่กำหนด

โดยบุคลากรที่มาทำงานจะได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงกันใน 2 ลักษณะ คือ

1. ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน
2. ผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงิน

การดำเนินการทางบัญชีขององค์กรจะบันทึกรายการที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผลตอบแทนบุคลากรเหล่านี้เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายตามบทบาทหน้าที่ที่เกิดขึ้น

ในอดีตที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีการจดบันทึกทางบัญชี เรื่องดังกล่าวมักบันทึกตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับผลตอบแทนที่จ่ายให้บุคลากร จวบจนการเปลี่ยนแปลงหลักการทางบัญชีที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของความเป็นจริง จึงมีการคำนึงถึงผลประโยชน์พนักงานที่ต้องจ่ายในอนาคต โดยการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์ของพนักงาน มาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ได้กำหนดวิธีการบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลของกิจการนายจ้างเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพนักงาน ในแต่ละองค์กรอาจมีข้อกำหนดระเบียบข้อตกลงเกี่ยวกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ที่จ่ายให้พนักงานโดยตรงหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่พนักงานให้การอุปการะหรือผู้รับผลประโยชน์ ขึ้นอยู่กับระเบียบขององค์กรนั้น ๆ

ประเภทของผลประโยชน์พนักงาน

คำว่าพนักงาน อาจหมายความถึงพนักงานที่ทำงานให้กับกิจการในลักษณะเต็มเวลา ไม่เต็มเวลา พนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว รวมถึงกรรมการบริษัท และบุคลากรระดับบริหารอื่น ที่แต่ละองค์กรจะกำหนดขึ้นมาตามโครงสร้างขององค์กร หรือตามภาระหน้าที่ที่พึงมีในองค์กร

ดังนั้นผลประโยชน์ของพนักงานจึงหมายถึงสิ่งตอบแทนทุกรูปแบบที่กิจการให้เพื่อแลกเปลี่ยนกับบริการที่ได้รับจากพนักงานหรือการเลิกจ้าง

โดยมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้แบ่งผลประโยชน์ของพนักงานออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้คือ

1. ผลประโยชน์ระยะสั้นสำหรับพนักงาน (Short-Term Employee Benefits)
2. ผลประโยชน์หลังออกจากงาน (Post-Employment Benefits)
3. ผลประโยชน์ระยะยาวอื่นของพนักงาน (Other Long-Term Employee Benefits)
4. ผลประโยชน์เมื่อเลิกจ้าง (Termination Benefits)


มาตรฐานการบัญชีได้กำหนดให้กิจการต้องรับรู้ผลประโยชน์พนักงานดังนี้

1) รับรู้หนี้สิน เมื่อพนักงานได้ให้บริการเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ของพนักงานที่กิจการจะจ่ายในอนาคต
2) รับรู้ค่าใช้จ่าย เมื่อกิจการได้รับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่เกิดจากการให้บริการของพนักงานแล้วเป็นการแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ของพนักงาน

 

จากบทความ : “ผลประโยชน์ของพนักงานประมาณการหนี้สินที่ต้องรู้” 
Section: Section: Tax Talk / Column: Accounting Update

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่.....วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 490 เดือนกรกฎาคม 2565
หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e-Magazine Index

 

FaLang translation system by Faboba