นักบัญชี VS นพลักษณ์ (Enneagram)

โดย

 


 
นักบัญชี VS นพลักษณ์ (Enneagram)

 

          มารู้จักนพลักษณ์กัน นพลักษณ์หรือเอ็นเนียแกรม (Enneagram) คือ ศาสตร์เกี่ยวกับการทำความเข้าใจผู้คนจากลักษณะบุคลิกภาพ พฤติกรรม แรงจูงใจในการใช้ชีวิต มุมมองที่มีต่อโลก กลไกการป้องกันตัว กิเลสหรือแรงขับในตัวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเองและผู้อื่น โดยลักษณะบุคลิกภาพของคนแบ่งออกเป็น 9 ประเภท หรือเรียกว่า 9 ลักษณ์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ลักษณ์ 1 : คนสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist)
ลักษณ์ 2 : ผู้ให้ (The Giver)
ลักษณ์ 3 : นักแสดง (The Performer)
ลักษณ์ 4 : คนโศกซึ้ง/ศิลปิน (The Tragic Romantic/Artist)
ลักษณ์ 5 : นักสังเกตการณ์ (The Observer)
ลักษณ์ 6 : นักปุจฉา (The Royal Skeptic)
ลักษณ์ 7 : นักผจญภัย (The Epicure)
ลักษณ์ 8 : ผู้พิทักษ์/เจ้านาย (The Protector/Boss)
ลักษณ์ 9 : ผู้ประสานไมตรี (The Mediator)

          เมื่อกล่าวถึงนักบัญชี จะนึกถึงคนที่ต้องทำงานคลุกคลีอยู่กับตัวเลข และเอกสารหลักฐานต่างๆ ทางการเงินของบริษัท เป็นคนที่มียึดมั่นในหลักการ และทำตามขั้นตอนที่เป็นแบบแผนอยู่เสมอ และการเป็นนักบัญชีที่ดี ควรมีความรู้เกี่ยวกับบัญชีเบื้องต้นเป็นอย่างดี รวมถึงมีคุณสมบัติด้านอื่นๆเป็นส่วนประกอบ ดังนี้
          1. ซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ทางการเงินของบริษัทเด็ดขาด
          2. ขยัน อดทน มีความรับผิดชอบงานในหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงตามกำหนดเวลา
          3. ละเอียดรอบคอบ ในการมอบหรือรับมอบเอกสารทางการเงินต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง
          4. มีความรู้ความสามารถ สามารถนำทฤษฎีมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขได้อย่างถูกต้อง และมีความเข้าใจในธุรกิจขององค์กร
          5. กล้าแสดงความคิดเห็น กล้านำเสนอแนวคิดและวิธีการใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจ รวมทั้งมีการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีอย่างสม่ำเสมอ
          6. พัฒนาตนเอง ศึกษาหาความรู้จากข้อมูล ข่าวสาร หรือหาโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับระบบบัญชีกับผู้ที่ประกอบวิชาชีพเดียวกันอยู่เสมอๆ

          นพลักษณ์ ได้รับความนิยมให้เป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาบุคลากรในองค์กร การพัฒนาภาวะผู้นำการทำงานร่วมกับผู้อื่น การสร้างทีมเวิร์ค และเป็นแนวทางในการเลือกประกอบอาชีพ

          ดังนั้น คนที่มีบุคลิกภาพเหมาะสมเป็นนักบัญชี หรือคนที่มีบุคลิกภาพที่สามารถร่วมงานกับนักบัญชีได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ลักษณ์ 1 คนสมบูรณ์แบบ และ ลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี มีรายละเอียดังต่อไปนี้

ลักษณ์ 1 : คนสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist)
          ลักษณะความคิด/ความเชื่อ พื้นฐาน
เป็นผู้ที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ มักจะมีกฎเกณฑ์ ระเบียบ มาตรฐานของตนเอง ให้กับสิ่งต่างๆอยู่เสมอ มักคิดว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ ชอบวิจารณ์สิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เข้มงวดและทุ่มเทเต็มร้อย มักจะหงุดหงิดเมื่อเจอคนที่เหลาะแหละ ไม่จริงจัง และเป็นคนเก็บสีหน้าไม่ค่อยอยู่

          จุดแข็ง
ความซื่อสัตย์ เคร่งครัด จริงจัง ทุ่มเท มีความรับผิดชอบสูง มีอุดมคติ มีหลักการที่ชัดเจน พยายามปรับปรุงตนเอง และใส่ใจรายละเอียด

          กลไกป้องกันตัวเอง
การตอบสนองตรงข้าม (reaction formation) คือ การไปทำในสิ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่ การแสดงออกตรงข้ามกับสิ่งที่ต้องการทั้งด้านลบและบวกสิ่งที่ควรจะทำ โดยมากจะตรงข้ามกับความรู้สึกด้านลบของตัวเองเช่น ลักษณ์ 1 ยิ้มให้กับคนที่เขาเกลียด หรือทำดีกับคนที่ทำให้เขาหงุดหงิด และตอบสนองตรงข้ามในสิ่งที่ดีด้วยเช่น สร้างความไม่พอใจคนที่เขารัก หงุดหงิดใส่คนที่เขาชอบ

          อาชีพที่เหมาะสม
นักบัญชี, นักวิเคราะห์แผนงาน, เลขานุการ, ผู้บริหาร, เจ้าหน้าที่ทางกฎหมาย, นิติกร, อัยการ, วิศวกร, นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ลักษณ์ 9 : ผู้ประสานไมตรี (The Mediator)
          ลักษณะความคิด/ความเชื่อ พื้นฐาน
เป็นผู้ที่รักความสงบ ชอบช่วยเหลือ ไม่ชอบความขัดแย้ง เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดี มีความอยากรู้อยากเห็น ความอดทนสูง ชอบอยู่เงียบ ๆ ไม่ยุ่งอะไรกับใคร บางครั้งใส่ใจความรู้สึกคนอื่นจนละเลยความรู้สึกตัวเอง และไม่กล้าปฏิเสธ มักจะลังเลอยู่เสมอ ๆ บางครั้งก็ดื้อเงียบ

          จุดแข็ง
อบอุ่น เข้าถึงง่าย มีความเป็นกันเอง อดทน ซื่อตรง ยอมรับผู้อื่นและสิ่งต่างๆได้ดี มีความรับผิดชอบ

          กลไกป้องกันตัวเอง
การทำให้มึนชา (narcotization) คือ กลไกอย่างหนึ่งทางจิตใจที่จะทำให้เขารู้สึกมึน ว่างเปล่า ไม่รู้สึกอะไร ง่วงนอน หรือคิดอะไรไม่ออก ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกหนีความรู้สึกที่ยากลำบาก ซับซ้อน ไม่สบายใจ หรือใหญ่เกินกว่าจะรับไหว ซึ่งสำหรับคนลักษณ์ 9 แล้วเขาอาจใช้กลไกป้องกันตัวเองนี้ได้ในหลากหลายรูปแบบ

          อาชีพที่เหมาะสม
นักบัญชี, QC, ครูหรือที่ปรึกษา, นักออกแบบเสื้อผ้า, เทรนเนอร์, ข้าราชการ

หมายุเหตุ : นพลักษณ์เป็นเพียงเครื่องมือแบบทดสอบ ไม่สามารถนำไปตัดสินผู้อื่นได้ทั้งหมด และเป็นเพียงแนวทางช่วยให้ผู้คนเข้าใจในพฤติกรรม วิธีคิด ของตนเองและผู้อื่นเท่านั้น สามารถศึกษาลักษณ์อื่นๆ ได้เพิ่มเติม

FaLang translation system by Faboba