จะทำอย่างไร ให้ “การปรับโครงสร้างองค์กร” ไม่มีวันเป็น “การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม”

โดย

 


 
จะทำอย่างไร
ให้ “การปรับโครงสร้างองค์กร”
ไม่มีวันเป็น “การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม”

 

ให้ทำตามนี้ รับประกันล้านเปอร์เซ็นต์ นายจ้างปลอดภัย
          1. ตั้งมั่นบนพื้นฐานจิตใจดีงาม บริสุทธิ์ ท่องคาถา ชอบด้วยกฎหมาย เป็นธรรม และสุจริตให้มั่นคงไว้ก่อน ถ้าข้อนี้ไม่ผ่าน แสดงว่าเจตนาร้าย ก็ไปต่อไม่ได้

          2. นำเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรเข้าไปขอมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อย่าลืมบันทึกหลักการ เหตุผล ผังโครงสร้างที่เอาเข้าไปขอมติ ต้องชัดเจน โปร่งใส ไม่หมกเม็ด

          3. ตำแหน่งงานไหน หน่วยงานไหน กระบวนการทางธุรกิจไหนที่ไม่เอาแน่ๆ เพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น ไม่คุ้มค่า อยากลดต้นทุน ฯลฯ คือปรับโครงสร้างเปลี่ยนตามสภาพการณ์ นโยบาย เหตุจำเป็น อย่างสมเหตุสมผล ไม่กลั่นแกล้งใคร ไม่มีรายการหมายหัว ที่ตั้งใจปรับโครงสร้างตรงกับที่เสนอผ่านมติจริงๆ ดูดีแล้วไม่มีใครติฉิน หาว่าทำตามอำเภอใจ คนที่จะเอาออกเพราะล้นงานเกินจำเป็นนั้น ก็ลองให้โอกาสกันก่อน อย่าด่วน อย่าผลีผลาม ใจเย็นๆ

          4. ให้โอกาส หน่วยงานไหนงานตึง ยังขาดคน ทั้งภายในบริษัทหรือบริษัทในเครือ ก็โยกย้ายหรือโอนย้ายไป อาจเป็นงานใหม่ งานไม่เคยทำ ไม่ถนัด แต่สอนกันได้ถ้าขยัน รักการเรียนรู้ ไม่เกี่ยงงาน (ถ้างานวิชาชีพก็ว่าไปอย่าง คงยาก) กรุณาสอบถามความสมัครใจ อยากไปไหม หรือจะหาทางเลือกอื่นดู เช่น มีโครงการสมัครใจออกจากงานร่วมกัน เสนอให้ตอบแทนอย่างน้อยต้องครอบคลุมค่าชดเชย+ค่าจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ผสมๆ กับเงินอีกสักก้อน ช่วยเหลือกันไป เรียกรวมๆ ว่า เงินช่วยเหลือกรณีออกจากงาน ด้วยความเห็นชอบร่วมกัน ก็ไม่เลว

          5. ก่อนที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้าง ควรหามาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมมาแก้ปัญหาก่อน เช่น ลดวัน ลดชั่วโมงการทำงาน ลดค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ล่วงเวลาวันหยุด เป็นต้น ทำการลดต้นทุนอื่นๆ ลดต้นทุนการผลิต ขอลดเงินเดือน หาตำแหน่งงานอื่นที่เหมาะสม เป็นต้น คือ ใช้ความพยายามหน่อยในการเสาะแสวงหาทางออกอื่นที่จะพอช่วยไม่ให้พนักงานตกงาน เอาให้สุดก่อน ทำคู่ขนานกันไป จนจะไม่ไหวค่อยเอาคนออก ก็จะเหลือให้เอาออกที่จำเป็นจริงๆ คือ คนที่ไม่อยากอยู่ เอาเงินช่วยเหลือฯ ดีกว่า คนที่ผลงานไม่ดีจริงๆ ให้โอกาสบ่อยๆ ก็ไม่ดีขึ้น (คัดประเมินตามเนื้อผ้านะ) คนหมดไฟ คนที่ไม่น่าไว้วางใจ คนที่องค์กรหยิบยื่นโอกาสแล้วยังเลือกงาน ยังปฏิเสธอยู่ทั้งที่ถึงทางตัน คนไม่มีวินัย ทำผิดวินัยการทำงาน ฯลฯ ก็สมควรที่จะต้องออกจริงๆ (อย่ามีอคติ ตั้งธงล่วงหน้า) หากทำได้อย่างนี้ แฟร์สุดแล้ว นายจ้างสบายใจได้ ขออย่าฉวยโอกาสเล่นงานลูกจ้างเป็นใช้ได้

บางส่วนจากบทความ : “การเลิกจ้างที่อ้างเหตุกลวงๆ ไม่เนียน
                                 แถมโกหกพกลม จะเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่?”
โดย :
กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : คลายปมปัญหาแรงงาน

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 239 เดือนตุลาคม 2565

 
 


FaLang translation system by Faboba