รู้จัก...สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

โดย

 


 
รู้จัก...สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

         

           สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม โดยผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น และสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

           จากความหมายของสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองดังกล่าว จึงสามารถกล่าวได้ว่าสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองคือการยืมทรัพย์สินในลักษณะใช้ไปสิ้นไป หรือทรัพย์สินที่เมื่อใช้ไปแล้วจะไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้อีก ส่งผลให้ผู้ยืมไม่ต้องคืนทรัพย์สินเดิมที่ยืมมา แต่ต้องคืนทรัพย์สินใหม่ที่เป็นประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันคืนให้แก่ผู้ให้ยืม และเนื่องจากทรัพย์สินที่ยืมจะถูกใช้ไปสิ้นไป จึงทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองโอนไปยังผู้ยืมด้วย ซึ่งแตกต่างจากสัญญายืมใช้คงรูป ที่ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินเดิมที่ยืมไปคืนให้แก่ผู้ให้ยืม กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมตามสัญญายืมใช้คงรูปจึงไม่โอนไปยังผู้ยืม

           ลักษณะของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
           สามารถแบ่งได้ดังนี้
           1. เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ ผู้ให้ยืม และอีกฝ่ายหนึ่งคือ ผู้ยืม
           2. เป็นสัญญาที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม
           3. ผู้ให้ยืมใช้สิ้นเปลืองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืม เพราะหากผู้ให้ยืมไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแล้ว ก็จะไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมได้
           4. เป็นสัญญาที่ไม่ต่างตอบแทน แต่อาจมีค่าตอบแทนได้ เช่น ดอกเบี้ย
           5. เป็นสัญญาที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นทรัพย์ชนิดใช้ไปสิ้นไป ได้แก่ ทรัพย์ที่เมื่อใช้ไปแล้วสิ้นสภาพหรือเปลี่ยนสภาพไปภายหลังการใช้งาน และไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น ยืมน้ำมันมาเติมรถ ยืมน้ำมาใช้
           6. เป็นสัญญาที่บริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม สัญญาไม่เป็นโมฆะ เพียงแต่คู่สัญญาจะยังไม่เกิดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามที่ระบุในสัญญายืม

           หน้าที่ของผู้ยืมใช้สิ้นเปลือง
           1. มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม
           2. มีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินแก่ผู้ให้ยืม ทรัพย์สินที่คืนนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินชิ้นเดียวกับที่ยืมมา แต่ต้องเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกัน ในปริมาณเดียวกันกับที่ยืมมา เช่น ยืมน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 จำนวน 20 ลิตร มาใช้ ถ้าไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เวลาคืนก็ต้องคืนน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 จำนวน 20 ลิตร (ไม่ต้องเป็นทรัพย์สินเดียวกับที่ยืมมา แต่ต้องเป็นทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมมา)

           กำหนดเวลาคืนทรัพย์สินที่ยืม
           1. กรณีสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองมีกำหนดเวลาใช้คืน ผู้ยืมต้องชำระหนี้ (คืนทรัพย์สิน) ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกัน ถ้าผู้ยืมไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาก็จะตกเป็นผู้ผิดนัด ผู้ให้ยืมมีสิทธิฟ้องคดีทันที
           2. กรณีสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองไม่มีกำหนดเวลาใช้คืน ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันสมควรก็ได้ ทำให้เมื่อไม่มีกำหนดเวลาใช้คืน ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวให้คืนทรัพย์สินก่อนก็ได้ หรือจะฟ้องคดีเลยโดยไม่บอกกล่าวก่อนก็ได้

           ความรับผิดของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
           ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ยืม หรือทรัพย์สินที่ยืมสูญหาย ความเสียหายนั้นย่อมตกแก่ผู้ยืม เนื่องจากสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมได้โอนมายังผู้ยืมแล้ว ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินนั้น ผู้ยืมย่อมต้องเป็นคนรับผลในความเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อถึงกำหนดเวลาคืนทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมจึงมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินตามประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมมา

 

จากบทความ : “สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองและภาระภาษี” Section: Laws & News / Column : Business Law
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...“วารสารเอกสารภาษีอากร”ปีที่ 42 ฉบับที่ 494 เดือนพฤศจิกายน 2565
หรือสมัครสมาชิก เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 


FaLang translation system by Faboba