ผลของการวางเงินมัดจำ

โดย

 


 
ผลของการวางเงินมัดจำ

 

       มัดจำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง เงินหรือทรัพย์สินที่คู่สัญญาส่งมอบให้กันในวันที่เข้าทำสัญญาเพื่อเป็นหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันว่าคู่สัญญาจะปฏิบัติตามสัญญานั้น หากต่อมาเกิดการผิดสัญญาขึ้น คู่สัญญาฝ่ายที่รับมัดจำก็จะริบหรือคืนมัดจำนั้น แล้วแต่กรณี

      จากความหมายของมัดจำดังกล่าว จะเห็นว่ามัดจำคือสิ่งที่คู่สัญญาได้ให้ไว้เมื่อเข้าทำสัญญา ซึ่งอาจเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดก็ได้ที่มีค่าในตัวเอง ที่สำคัญคือต้องส่งมอบให้กันในขณะทำสัญญา เพื่อเป็นหลักฐานว่าสัญญาได้ทำขึ้นแล้ว และเพื่อเป็นหลักประกันว่าคู่สัญญาจะปฏิบัติตามสัญญา หากผิดสัญญา มัดจำนั้นก็จะถูกริบหรือคืน แล้วแต่กรณี

      ผลของการวางเงินมัดจำ
      เมื่อสัญญาใดได้มีการวางเงินมัดจำกัน และไม่ได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับเงินมัดจำกันไว้เป็นพิเศษ ย่อมก่อให้เกิดผลทางกฎหมายต่อเงินมัดจำที่วางกันได้ 3 กรณี ดังนี้
      กรณีที่ 1 : คู่สัญญาผู้วางเงินมัดจำ “ชำระหนี้ตามสัญญา”
      ผลทางกฎหมาย : ผู้รับเงินมัดจำต้องคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้วางเงินมัดจำ หรือจะนำเงินมัดจำนั้นมาหักชำระหนี้ตามสัญญาก็ได้
      ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้วางเงินมัดจำผิดนัดชำระหนี้ แต่ผู้รับเงินมัดจำไม่ได้ติดใจถือว่าผู้วางเงินมัดจำผิดสัญญา และรับชำระหนี้ตามสัญญาต่อไป หากต่อมาผู้วางเงินมัดจำชำระหนี้ตามสัญญาจนครบ ผู้รับเงินมัดจำย่อมต้องคืนเงินมัดจำนั้นให้แก่ผู้วางเงินมัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (1)
      ข้อสังเกต การนำเงินมัดจำมาหักชำระหนี้ตามสัญญาจะทำได้เฉพาะงวดสุดท้ายหรืองวดท้าย ๆ เท่านั้น เพราะหากนำไปหักชำระหนี้ในงวดอื่น ๆ จนเงินมัดจำนั้นหมดไปก่อน ย่อมทำให้ไม่มีเงินมัดจำที่เป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญากันอีก

      กรณีที่ 2 : คู่สัญญาผู้วางเงินมัดจำ “ไม่ชำระหนี้” หรือ “การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะความผิดของผู้วางเงินมัดจำ” หรือ “เลิกสัญญาเพราะความผิดของผู้วางเงินมัดจำ”
      ผลทางกฎหมาย : ผู้รับเงินมัดจำมีสิทธิริบเงินมัดจำนั้นได้
      ข้อสังเกต
      
1. เงินมัดจำที่ผู้รับเงินมัดจำจะริบได้ ต้องเป็นเงินมัดจำที่ได้ส่งมอบให้แก่กันไว้แล้วเท่านั้น หากยังไม่ได้ส่งมอบ ย่อมไม่ถือเป็นเงินมัดจำ
      2. การริบเงินมัดจำจะต้องเกิดจากการผิดสัญญาหรือความผิดของผู้วางเงินมัดจำเท่านั้น หากเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย ไม่ได้เกิดจากความผิดของฝ่ายใด ผู้รับเงินมัดจำจึงไม่สามารถริบเงินมัดจำได้
      3. การริบเงินมัดจำเป็นสิทธิของผู้รับเงินมัดจำตามกฎหมาย หากผู้รับเงินมัดจำได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดสัญญามากกว่าเงินมัดจำที่ริบไว้ ผู้รับเงินมัดจำก็ไม่เสียสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายแต่อย่างใด
      4. แม้ผู้รับเงินมัดจำจะใช้สิทธิริบเงินมัดจำแล้ว ก็ไม่เสียสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายชำระหนี้ตามสัญญาอีก เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น แต่หากผู้รับเงินมัดจำได้ใช้สิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาแล้ว ก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะริบเงินมัดจำอีก เพราะเมื่อฟ้องบังคับตามสัญญาและได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้รับเงินมัดจำจะต้องส่งคืนเงินมัดจำหรือหักชำระหนี้ จะริบเงินมัดจำอีกไม่ได้

      กรณีที่ 3 : คู่สัญญาผู้รับเงินมัดจำ “ไม่ชำระหนี้” หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะความผิดของผู้รับเงินมัดจำ”
      ผลทางกฎหมาย : ผู้รับเงินมัดจำต้องส่งคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้วางเงินมัดจำ
      ข้อสังเกต ผู้วางเงินมัดจำมีสิทธิฟ้องเรียกคืนเงินมัดจำคืน พร้อมเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในจำนวนเงินมัดจำดังกล่าว นับแต่วันที่ผู้รับเงินมัดจำผิดนัดได้ เพราะถือเป็นดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด

 

   บางส่วนจากบทความ : “เงินมัดจำและภาระภาษี” Section: Laws & News / Column: Business Law
   อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...
วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 495 เดือนธันวาคม 2565
   
หรือ สมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba