Trust & Lifelong Learning บริหารเมือง-บริหารคนสู่ความสำเร็จ

โดย

 


 
Trust & Lifelong Learning
บริหารเมือง-บริหารคนสู่ความสำเร็จ


          HR Society Magazine ฉบับต้อนรับปี 2566 เปิดศักราชใหม่เดือนมกราคมด้วยสัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้คร่ำหวอดและเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์การบริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลยุทธ์สำคัญ

          ในการบริหารเมืองและบริหารคนของท่านผู้ว่าฯ ในบทบาทผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีวิสัยทัศน์และแนวคิดสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างไร
          “ผมว่าหลัก Design Thinking ต้องเริ่มจากความเข้าอกเข้าใจก่อนว่าปัญหาคืออะไร ต้องลงไปคลุกคลี ที่ผ่านมาผมพยายามพูดตลอดว่า ปัญหากรุงเทพฯ บางคนคิดว่าการทำเมืองให้น่าอยู่ ต้องทำโครงการเมกะโปรเจกต์ สร้างรถไฟฟ้า ทางด่วน ทำอุโมงค์ระบายน้ำ นั่นเป็นรูปแบบวิธีคิดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ปัญหาเส้นเลือดฝอยมีความสำคัญ ถ้าเกิดมีอุโมงค์ระบายน้ำ แต่ปัญหาเส้นเลือดฝอยยังไม่ได้รับการแก้ไข ท่อระบายน้ำตัน น้ำก็ยังท่วมบ้าน ถ้ามีโรงพยาบาลที่ดีที่สุดระดับโลก แต่สาธารณสุขใกล้บ้านกลับไม่ดี ผมมองว่าการทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ พูดตรงๆ สำหรับคนมีเงิน รายได้สูง ไม่มีปัญหาเรื่องพวกนี้หรอก เขาอยู่เส้นเลือดใหญ่ เข้าถึงการรักษาได้ มีกำลังส่งลูกเรียนอินเตอร์ แต่ถ้าคนฐานะปานกลาง รายได้น้อย จะต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้

          การปรับปรุงเมืองให้น่าอยู่ ทุกคนต้องดูที่ปัญหาเส้นเลือดฝอย แก้เรื่องพวกนี้ก่อน มันไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะ แต่อาศัยความพยายาม ความละเอียด ความเอาใจใส่ อย่างเราเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนอาจจำได้ แค่ใครเป็นคนสร้างรถไฟฟ้า แต่ไม่มีใครจำ ถ้าเราไปลอกท่อระบายน้ำ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำ แม้เป็นเรื่องไม่หวือหวา แต่ทำให้คนเมืองมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

          อย่างที่บอกว่า Design Thinking ต้องเข้าใจปัญหา ระบุปัญหาให้ถูกต้อง และหาคำตอบ ถ้าเราระบุปัญหาผิด แก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ด้วยการสร้างรถไฟฟ้า มันไม่ได้ตอบโจทย์ครบวงจร ถ้ามีรถไฟฟ้า แต่คนยังไปไม่ถึงบ้าน ก็ต้องขับรถออกมาอยู่ดี กระบวนการนี้มันต้องเริ่มจากการเข้าใจชีวิต เข้าใจจิตใจคนก่อน บอกปัญหาให้ถูกว่าคืออะไร

          ตอนผมเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ใหม่ๆ คนชอบพูดว่า กทม. มีปัญหาเรื่องไม่มีงบประมาณ เพราะเรามาปลายเทอมแล้ว บางคนบอกเหลืองบประมาณอยู่ 95 ล้านบาท จะเอาไปทำอะไรได้ ผมกลับรู้สึกว่าปัญหาอยู่ที่ความไว้ใจของประชาชน คีย์หลักในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องการสร้างความไว้ใจให้กับคน เรามีระบบ Traffy Fondue คอยรับฟังปัญหาเส้นเลือดฝอยต่างๆ มีการจัดกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจรในแต่ละเขต เปลี่ยนวิธีคิด เอาหลัก People Centered ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดรับฟังปัญหาโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว แต่ประชาชนรู้สึกไว้ใจ กทม. มากขึ้น เพราะเราทำให้เขาเห็นถึงคุณค่าของเมือง พอคนไว้ใจ ก็อยากร่วมมือทำอะไรกับเราเยอะขึ้น ความไว้ใจเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเรื่องงบประมาณอีก มีงบประมาณเยอะก็ใช่ว่าจะสามารถสร้างความไว้ใจให้คนได้”

          ผมดี Define ปัญหาว่า ไม่ได้อยู่ที่เรื่องงบประมาณ แต่อยู่ที่ประชาชนไม่มีความไว้ใจเรา จึงต้องเน้นการทำงานให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตอบโจทย์ตรงจุด พอทำปุ๊บ ประชาชนให้ความไว้ใจกลับมา อย่างโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ช่วงแรกๆ ที่ทำก็เหนื่อย แต่พอทำให้เห็นว่าเราจริงจัง ปลูกจริง ติดตามตลอด ปัจจุบันมีคนมาร่วมปลูกต้นไม้ได้ 1.6 ล้านต้น โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของ กทม. แต่เป็นภาคเอกชนที่เข้ามาร่วม เพราะเขาไว้ใจเรา”

 

บางส่วนจากบทความ : “Trust & Lifelong Learning บริหารเมือง-บริหารคนสู่ความสำเร็จ”
โดย :
กองบรรณาธิการ / Section : - / Column : Cover Story 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 21 ฉบับที่ 241 เดือนมกราคม 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba