ความสำคัญของการขึ้นทะเบียนประกันสังคม สำหรับ “นายจ้าง” ที่มี “ลูกจ้าง”

โดย

 


 
ความสำคัญของการขึ้นทะเบียนประกันสังคม
สำหรับ “นายจ้าง” ที่มี “ลูกจ้าง”


        รากฐานความคิดของระบบประกันสังคมและความสำคัญของการขึ้นทะเบียนประกันสังคม เบื้องต้น 3 ประการ เพื่อให้นายจ้างเข้าใจและพร้อมที่จะทำหน้าที่ด้วยความเต็มใจ มีดังนี้

        ประการแรก สำคัญต่อนายจ้างในฐานะที่เป็น “ผู้ให้” หลักประกันชีวิตที่มั่นคงกับลูกจ้าง
        พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงกำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง พึ่งพาอาศัยกัน โดยลูกจ้างใช้แรงงานทำงานในกิจการของนายจ้าง และนายจ้างจ่ายเงินตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง และร่วมสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสังคมจะทำหน้าที่คุ้มครองลูกจ้างผู้ประกันตน หรือให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งเป็นหลักการที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

        ประการที่สอง สำคัญต่อนายจ้างที่จะได้รับ “พลังหนุน” จากลูกจ้าง เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของกิจการ การประกอบกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ล้วนต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ คน (Men) เงิน (Money) วัสดุ (Material) และวิธีการบริหาร (Management) และถึงแม้ปัจจุบันจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้นก็ตาม แต่คน (Men) ก็ยังถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารกิจการ และนำพากิจการให้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ และเพราะ “คนหรือมนุษย์” ต่างจากเครื่องมือเครื่องจักรเพราะมีสมอง มีความคิด ความรู้สึก มีความต้องการ ฯลฯ

        ประการที่สาม สำคัญต่อนายจ้างที่จะมีเวลาในการบริหารกิจการ “อย่างบริบูรณ์”
        กฎหมายประกันสังคมกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างและแสดงรายชื่อให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน กรณีที่เจ้าหน้าที่พบ (ในวันใดวันหนึ่ง) ว่านายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนตามเวลาที่กำหนด เช่น ลูกจ้างแจ้งหรือร้องเรียนให้สำนักงานประกันสังคมทราบ หรือเจ้าหน้าที่ตรวจพบเอง เจ้าหน้าที่มีอำนาจขึ้นทะเบียนนายจ้างและประเมินเงินสมทบย้อนหลังนับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้าง และแจ้งให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามที่เจ้าหน้าที่ประเมินไว้ (มาตรา 47 ทวิ) ซึ่งในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จะมี “หนังสือ” ไปถึงนายจ้างหลายฉบับ เช่น หนังสือแจ้งให้นายจ้างไปพบเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการประกอบกิจการ หนังสือแจ้งให้นายจ้างส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจ้างงาน หนังสือเตือนให้นายจ้างขึ้นทะเบียนและแจ้งชื่อลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน หนังสือแจ้งการประเมินเงินสมทบกรณีที่นายจ้างไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียน และในท้ายที่สุด คือ หนังสือเตือนให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบและเงินเพิ่มที่ค้างชำระ และมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้าง เพื่อชำระหนี้ค้างชำระ (มาตรา 50) เป็นต้น นอกจากนี้ ในกรณีที่นายจ้างไม่มาให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ ไม่ส่งเอกสารหลักฐานตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ นายจ้างต้องถูกดำเนินการคดีอาญา (มาตรา 92 มาตรา 96) ซึ่งหากนายจ้างเป็นนิติบุคคล ผู้ที่ต้องรับผิดหมายรวมถึงกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย (มาตรา 101) เป็นต้น

 

บางส่วนจากบทความ : “นายจ้าง ที่มี “ลูกจ้าง” ขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ลูกจ้างด้วย
โดย : 
ปรานี สุขศรี / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : ประกันสังคม

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 21 ฉบับที่ 241 เดือนมกราคม 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba