ความหมายและประเภทของเบี้ยปรับ

โดย

 


 
ความหมายและประเภทของเบี้ยปรับ


     เบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้า โดยลูกหนี้ให้สัญญาว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ให้เจ้าหนี้เรียกเบี้ยปรับตามสัญญาได้

     ลักษณะของเบี้ยปรับ สามารถแบ่งได้ ดังนี้
     1. เบี้ยปรับ คือ ข้อตกลงเรื่องหนึ่งในสัญญา ซึ่งข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับกฎหมายไม่ได้บังคับว่าคู่สัญญาต้องตกลงกันไว้ ดังนั้นในการทำสัญญาใด ๆ ก็ตาม คู่สัญญาจะตกลงเรื่องเบี้ยปรับกันหรือไม่ก็ได้
     2. ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับถือเป็นสัญญาอุปกรณ์ (สัญญารอง) ความสมบูรณ์ของข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับจึงขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสัญญาประธาน (สัญญาหลัก) ที่ทำ หากสัญญาประธานไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เบี้ยปรับซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ย่อมสิ้นผลไปด้วย
     3. ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับ คู่สัญญาจะตกลงกันในขณะทำสัญญาหรือภายหลังทำสัญญาก็ได้ ต่างจากมัดจำที่คู่สัญญาต้องตกลงกันขณะทำสัญญาเท่านั้น

     4. เบี้ยปรับจะส่งมอบให้ไว้แก่กันในขณะทำสัญญาหรือไม่ก็ได้
     5. เบี้ยปรับต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ตกลงจะชำระค่าเสียหายเมื่อผิดสัญญาเท่านั้น หากปรากฏว่าลูกหนี้ไม่เคยแสดงออกชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าจะชำระเบี้ยปรับเมื่อผิดสัญญา ย่อมไม่ใช่เบี้ยปรับ
     6. เมื่อข้อตกลงใดเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับแล้ว แม้คู่สัญญาจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ค่าเสียหาย ก็ต้องถือเป็นเบี้ยปรับและต้องบังคับตามบทบัญญัติของเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ถึงมาตรา 385

     ประเภทของเบี้ยปรับ
     เบี้ยปรับสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
          1. เบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน
          เบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน คู่สัญญาต้องตกลงจำนวนเงินหรือวิธีการคำนวณเบี้ยปรับไว้ให้ชัดเจน โดยเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงินดังกล่าว คู่สัญญาไม่จำเป็นต้องส่งมอบกันไว้ในขณะทำสัญญา เพียงมีข้อตกลงว่าจะมีการให้เบี้ยปรับก็พอ ต่างจากเงินมัดจำที่คู่สัญญาต้องส่งมอบกันตั้งแต่ขณะทำสัญญาเท่านั้น

          2. เบี้ยปรับที่กำหนดเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น
          เบี้ยปรับประเภทนี้ ได้แก่ เบี้ยปรับที่กำหนดให้เป็นการกระทำ การงดเว้นการกระทำ หรือการส่งมอบทรัพย์สิน เช่น สัญญาจ้างที่ระบุว่าเมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว งานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นทั้งหมด ผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นกรณีที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งไม่ใช่เงิน เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382

 

บางส่วนจากบทความ :“เบี้ยปรับตามสัญญาและภาระภาษี”
Section: Laws & News/ Column: Business Law
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 496 เดือนมกราคม 2566 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba