สวัสดิการพนักงาน ข้อสงสัยเรื่องภาษี

โดย

 


 
สวัสดิการพนักงาน ข้อสงสัยเรื่องภาษี


        พนักงาน/ลูกจ้างที่ได้รับสวัสดิการจากบริษัทนายจ้าง ไม่ว่าจะได้รับเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่ได้รับซึ่งคำนวณได้เป็นเงิน ย่อมถือได้ว่าพนักงานได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานจึงต้องนำเอาสวัสดิการที่ได้รับดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินในปีที่ได้รับ ตัวอย่างเช่น
        บริษัทฯ ประกอบกิจการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่บริษัทอื่น ๆ ได้เสนอโครงการประกันชีวิตแก่บริษัทลูกค้า ซึ่งโครงการประกันชีวิตดังกล่าว บริษัทนายจ้างจะต้องทำประกันชีวิตให้กับพนักงานทุกคนเป็นการทั่วไป และบริษัทนายจ้างต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนพนักงานทุกคนจนครบกำหนดอายุกรมธรรม์ และถือเป็นสวัสดิการของพนักงาน กรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวเป็นแบบชนิดสะสมทรัพย์ซึ่งบริษัทนายจ้างเป็นผู้ถือกรมธรรม์ และมีระยะเวลาชำระเบี้ยประกันและระยะเวลาให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ 21 ปี โดยพนักงานเป็นผู้เอาประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์เมื่ออายุกรมธรรม์ครบสัญญาหรือมีอายุครบเกษียณ หรือทายาทของพนักงานเป็นผู้รับประโยชน์กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ทั้งนี้ ตามระเบียบสวัสดิการของบริษัทนายจ้าง
        บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงานที่บริษัทนายจ้างจ่ายแทนพนักงานทุกคน บริษัทนายจ้างมีสิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่
        2. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงานที่บริษัทนายจ้างจ่ายแทนพนักงานทุกคนนั้น พนักงานต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
        3. ผลประโยชน์ที่พนักงานผู้เอาประกันหรือทายาทได้รับตามกรมธรรม์ แล้วแต่กรณี พนักงานผู้เอาประกันภัยหรือทายาทต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

        คำวินิจฉัย
        1. กรณีตาม 1. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงานที่บริษัทนายจ้างจ่ายแทนพนักงาน หากเป็นกรณีที่บริษัทนายจ้างต้องจ่ายให้แก่พนักงานทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบสวัสดิการของบริษัทนายจ้าง เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทนายจ้างแล้ว การจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา บริษัทนายจ้างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
        2. กรณีตาม 2. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทนายจ้างจ่ายแทนพนักงานเข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (1) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
        3. กรณีตาม 3. ผลประโยชน์ที่พนักงานผู้เอาประกันภัยหรือทายาทได้รับตามกรมธรรม์ประกันชีวิต แล้วแต่กรณี เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร
        (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0702/10407 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2552)

 

  บางส่วนจากบทความ : “สวัสดิการพนักงาน มุมภาษีที่ไม่ควรมองข้าม”
  โดย : Section: Tax Talk / Column: ภาษีสรรพากร

  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 496 เดือนมกราคม 2566 หรือสมัครสมาชิก    “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba