เงินค่าบริการ เงินค่าทิป จะถือเป็นค่าจ้างหรือไม่?

โดย

 


 
เงินค่าบริการ เงินค่าทิป จะถือเป็นค่าจ้างหรือไม่?


          เงินค่าบริการ (Service Charge) และเงินทิป มีความคล้ายกัน ซึ่งคำถาม คือ เงินค่าบริการ เงินค่าทิป หรือเงินทิป ถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ เหตุผลก็เพื่อจะทราบว่านายจ้างจะต้องนำจำนวนเงินค่าบริการกับค่าทิปมารวมคำนวณสำหรับใช้เป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดด้วยหรือไม่

          ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัตินิยามคำว่า “ค่าจ้าง” คือ เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง สำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดวันและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่มีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

          ดังนั้น จากคำนิยาม ค่าจ้างก็คือ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงาน เมื่อทราบความหมายของค่าจ้างแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ เงินค่าบริการ กับเงินค่าทิป มีลักษณะหรือที่มาอย่างไร
          เงินค่าบริการ (Service Charge) เป็นเงินที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บจากลูกค้า หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเงินทิปแบบบังคับจ่าย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ให้บริการจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 10 จากยอดค่าบริการ หรือจากยอดค่าสินค้าที่มีงานบริการรวมอยู่ด้วย เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น และหลังจากผู้ให้บริการซึ่งเป็นนายจ้าง ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ก็จะนำมาแบ่งบางสัดส่วนให้แก่ลูกจ้างตามที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้น หากพิจารณาจากความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” จะเห็นได้ว่าเงินค่าบริการไม่ใช่เงินของนายจ้าง แต่เป็นเงินของลูกค้าที่นายจ้างนำมาจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงไม่เป็นค่าจ้าง ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อจะได้ศึกษาเพิ่มเติม ดังนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738/2548
          เงินค่าบริการ เป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยนายจ้างหักบางส่วนไว้เป็นเงินสวัสดิการแก่พนักงาน ส่วนที่เหลือนำมาแบ่งให้พนักงาน เงินค่าบริการ จึงเป็นเงินของลูกค้าที่มาใช้บริการ ไม่ใช่เงินที่บริษัทจ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงานผู้เป็นลูกจ้าง แม้บริษัทจะหักเงินค่าบริการบางส่วนไว้เป็นสวัสดิการพนักงาน ก็ไม่ทำให้เงินค่าบริการกลายเป็นเงินที่บริษัทจ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงาน เงินค่าบริการ จึงไม่ใช่ค่าจ้าง
          จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้น จะเห็นได้ว่า เงินค่าบริการไม่เป็นค่าจ้าง เพราะมีลักษณะเป็นเงินที่ลูกค้าเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่นายจ้าง แต่หากเมื่อใดก็ตามมีข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณีที่นายจ้างจ่ายสมทบในเงินค่าบริการดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างด้วย จึงจะถือเป็นค่าจ้าง
          เงินค่าทิป หรือเงินทิป (Tip) จะเป็นเงินพิเศษที่ลูกค้าให้แก่ผู้ให้บริการ เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนการให้บริการนอกเหนือจากการชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการ ซึ่งเงินทิปจะมีจำนวนไม่แน่นอน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้าที่มาใช้บริการ ซึ่งในกรณีหากเงินค่าทิปเป็นเงินที่นายจ้างไม่ได้เป็นผู้จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน แต่เป็นเงินที่ได้รับมาจากลูกค้า แล้วนายจ้างนำมาให้แก่ลูกจ้างอีกทีหนึ่ง จะไม่ถือเป็นค่าจ้าง
          จะเห็นได้ว่า คำตอบเรื่องเงินค่าบริการกับเงินค่าทิป เป็นค่าจ้างหรือไม่ จำต้องพิจารณาข้อเท็จจริง กล่าวคือ หากเงินค่าบริการ หรือเงินค่าทิปเหล่านั้นเป็นเงินที่นายจ้างได้มาจากลูกค้า เช่นนี้จะไม่ถือเป็นค่าจ้าง แต่หากเงินเหล่านั้นมีเงินของนายจ้างจ่ายสมทบรวมอยู่ด้วย ก็ทำให้เงินค่าบริการ หรือค่าทิปดังกล่าวนั้น เป็นค่าจ้าง

 

  บางส่วนจากบทความ : “เงินค่าบริการ เงินค่าทิป จะถือเป็นค่าจ้างหรือไม่?
  โดย : กองบรรณาธิการ / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : เรื่องข้นคน HR

  อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 21 ฉบับที่ 242 เดือนกุมภาพันธ์ 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba