ลักษณะของกิจการร่วมค้า

โดย

 


 
ลักษณะของกิจการร่วมค้า


         กิจการร่วมค้าเข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร การเข้าร่วมค้าของผู้เข้าร่วมค้าซึ่งจะเข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้าดังกล่าว จะต้องเป็นกิจการที่ประกอบด้วย
         1. บริษัทกับบริษัท
         2. บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
         3. ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
         4. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา
         5. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
         6. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ
         7. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับนิติบุคคลอื่น

         กรณีการเป็นกิจการร่วมค้า นอกจากจะต้องพิจารณาว่าผู้เข้าร่วมค้าจะต้องประกอบด้วยใครบ้างตามที่กล่าวข้างต้น ยังต้องพิจารณาด้วยว่าการเข้าร่วมค้าจะต้องเข้าลักษณะเป็นกิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ซึ่งแนวในการพิจารณาของกรมสรรพากรว่ากรณีใดที่จะเข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้า ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
         (1) ได้ตกลงเข้าร่วมทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุน อันจะพึงได้ตามสัญญาที่กระทำร่วมกันกับบุคคลภายนอก
         (2) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุในสัญญาว่าเป็นกิจการร่วมค้า หรือ
         (3) ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยสัญญากำหนดให้ต้องรับผิดร่วมกันในงานที่ทำ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญาไม่ได้แบ่งแยกงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/2172 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2530, มติ กพอ. ครั้งที่ 3/2530 วันที่ 29 มกราคม 2530, หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0702/3143 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551)

         จากความหมายของกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร และแนวทางในการพิจารณาของกรมสรรพากรที่วางหลักในการพิจารณาว่าการเข้าร่วมค้าลักษณะอย่างใดที่เข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้า ซึ่งกิจการร่วมค้าดังกล่าวเป็นหน่วยภาษีหน่วยหนึ่ง แยกต่างหากจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้า ในการเสียภาษีจึงต้องเสียภาษีในนามของกิจการร่วมค้า แต่กิจการร่วมค้าดังกล่าวจะไม่เข้าลักษณะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงกิจการร่วมค้าให้เป็นนิติบุคคล (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3848/2531 วินิจฉัยว่า กิจการร่วมค้าก็คือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน) ดังนั้นเมื่อกิจการร่วมค้าเลิกกิจการและมีหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในหนี้ดังกล่าวก็คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าจะต้องรับผิดชอบในหนี้ดังกล่าว

 

  จากบทความ “กิจการร่วมค้ากับภาระภาษีตามประมวลรัษฎากร”
  Section: Tax Talk / Column: ภาษีสรรพากร
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 497 เดือนกุมภาพันธ์ 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba