หลักเกณฑ์การจ่าย”BONUS” ที่เป็นรายจ่ายต้องห้าม และที่เป็นรายจ่ายได้

โดย

 


 
หลักเกณฑ์การจ่าย”BONUS” ที่เป็นรายจ่ายต้องห้าม
และที่เป็นรายจ่ายได้


      การจ่ายโบนัสแก่พนักงานถือเป็นการสร้างแรงจูงใจและการกระตุ้นการทำงาน เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นในลักษณะของขวัญ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการจ่ายสินจ้างตามปกติ ซึ่งอาจจะเป็นรายปี หรือครึ่งปี ซึ่งเกณฑ์การจ่ายโบนัส เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องให้ความระมัดระวัง หากจ่ายจากผลกำไรจะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทันที

      "โบนัส" ที่เป็น "รายจ่ายต้องห้าม"ตามมาตรา 65 ตรี (19)
            รายจ่ายใดๆที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว เช่น
            • การจ่ายโบนัสโดยแปรผันตามกำไรสุทธิ เช่น ปีไหนมีผลกำไรก็จ่าย ปีไหนไม่มีผลกำไรก็ไม่จ่าย

      "โบนัส" ที่เป็น "รายจ่ายได้"
            ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายโบนัสไว้ โดยไม่อิงจากผลกำไรสุทธิหรือผลประกอบการ เช่น
            • จ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดโดยไม่คำนึงว่า บริษัทฯ จะมีกำไรหรือขาดทุนหรือไม่
            • การใช้สัดส่วนของกำไรต่อสินทรัพย์ (Return on Assets) (ROA) ของปีก่อนเป็นเกณฑ์ในการกำหนดอัตราการจ่ายโบนัสในปีปัจจุบัน
            ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่ต้องการให้การจ่ายโบนัสเป็นรายจ่ายต้องห้าม ต้องให้ความสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัส เพื่อนำมาเป็นรายจ่ายในกิจการได้

อ้างอิง : ข้อหารือกรมสรรพากร กค 0706/5091 และ กค 0811/2883

      ประเด็นทางกฎหมายภาษีอากร
      โบนัส ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทเดียวกันกับเงินเดือนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร โบนัสที่ได้รับก็เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกัน และหาก กรณีกรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ซึ่งได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร โบนัสที่ได้รับก็จัดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

      เมื่อพนักงานได้รับเงินโบนัสเป็นค่าจ้างในเดือนใด ย่อมถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานของพนักงานในเดือนนั้น จึงมีหน้าที่จะต้องนำโบนัสที่ได้ไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้พึงประเมินประจำปี ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษี ในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (withholding Tax) ตามมาตรา 50(1) และต้องนำไปรวมยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.91 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax : P.I.T.) ประจำปี ตามมาตรา 56 วรรคแรกแห่งประมวลรัษฎากร

      ส่วนบริษัทนายจ้างนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินโบนัสก็มีหน้าที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งวิธีการในการคำนวณหัก ณ ที่จ่ายก็สามารถดูตัวอย่างได้จากคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.96/2543 เรื่อง การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 และสามารถนำเงินโบนัสที่จ่ายนั้นมาลงเป็นรายจ่ายของกิจการได้ตามปกติ ในกรณีนี้พนักงานลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาหรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกันสามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้นั้นไปเครดิตภาษีได้ตามปกติ

      ข้อสังเกต โดยหลักการได้รับโบนัสต้องพิจารณาถึงช่วงเวลาที่ได้รับเงินโบนัสจริงด้วย หากได้รับภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ผ่านมา ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้วแต่กรณีภายในเดือนมีนาคมของปีนี้ แต่หากได้รับในภายหลัง เช่น ได้รับในวันที่ 1 มกราคมของปีนี้ ก็จะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด. 91 แล้วแต่กรณีภายในเดือนมีนาคมของปีหน้า

FaLang translation system by Faboba