สัญญาเช่าเครื่องจักร

โดย

 


 
สัญญาเช่าเครื่องจักร


       สัญญาเช่าเครื่องจักรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็คือ สัญญาเช่าทรัพย์สินชนิดหนึ่ง ดังนั้นสัญญาเช่าเครื่องจักรจึงหมายถึง “สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในเครื่องจักร (ทรัพย์สิน) อย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น[1]
       สาระสำคัญของสัญญาเช่าเครื่องจักร
       จากความหมายดังกล่าว สามารถสรุปสาระสำคัญของสัญญาเช่าเครื่องจักรได้ดังนี้
       1) เป็นสัญญา 2 ฝ่าย คือ ระหว่างผู้ให้เช่าฝ่ายหนึ่ง และผู้เช่าอีกฝ่ายหนึ่ง โดยแต่ละฝ่ายจะประกอบด้วยบุคคลคนเดียวหรือหลายคน จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
       2) ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในเครื่องจักร (ทรัพย์สิน) ที่เช่า หากสัญญาใดผู้เช่าไม่ได้ใช้หรือไม่ได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในทรัพย์สินที่เช่าแล้ว สัญญานั้นย่อมไม่ใช่สัญญาเช่าทรัพย์[2]
       3) เป็นสัญญาที่มีระยะเวลาอันจำกัด เนื่องจากสัญญาเช่าเครื่องจักรเป็นสัญญาที่ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในเครื่องจักรชั่วระยะเวลาอันจำกัด และผู้เช่าต้องคืนเครื่องจักรนั้นให้แก่ผู้ให้เช่า ระยะเวลาอันจำกัดนั้นอาจจำกัดด้วยระยะเวลา เช่น รายวัน รายเดือน รายปี หรืออาจจำกัดด้วยอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าก็ได้[3]
       4) เป็นสัญญาที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ฉะนั้น ไม่ว่าผู้เช่าจะได้ครอบครองใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรตามสัญญาเช่านานเพียงใด ผู้เช่าก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรเพราะถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ให้เท่านั้น ดังนั้นผู้เช่าจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ เว้นแต่จะแจ้งเปลี่ยนเจตนาครอบครอง และเมื่อสัญญาเช่ามิได้มุ่งโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ให้เช่าจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักร (ทรัพย์สิน) ที่ให้เช่า หากผู้ให้เช่ามีสิทธิส่งมอบการครอบครองเครื่องจักรนั้นให้แก่ผู้เช่าได้ ก็สามารถเป็นคู่สัญญาเช่าเครื่องจักรได้[4]
       5) เป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ ผู้เช่าได้ใช้เครื่องจักรหรือได้รับประโยชน์จากเครื่องจักรที่เช่า ส่วนผู้ให้เช่าก็ได้รับค่าเช่าเป็นการตอบแทน
       6) เป็นสัญญาที่ถือคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสำคัญ เนื่องจากสัญญาเช่าไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่เช่า เพียงแต่มีการส่งมอบการครอบครองเครื่องจักรให้แก่ผู้เช่าเพื่อให้ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์เท่านั้น เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้ว ผู้เช่าก็ต้องส่งมอบเครื่องจักรนั้นคืนแก่ผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าจึงต้องคัดเลือกหรือคำนึงถึงผู้เช่าว่าสมควรไว้วางใจให้ครอบครองใช้เครื่องจักรหรือไม่ ดังนั้นสิทธิการเช่าจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า จะโอนให้แก่ผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า[5]


[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537
[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2541
[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 541
[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 410/2515 และ 107/2534
[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2509 และ 221/2516 

  จากบทความ “สัญญาเช่าเครื่องจักรและภาษีที่เกี่ยวข้อง” Section: Laws & News / Column: Business Law
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 498 เดือนมีนาคม 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba