ออกจากงาน จัดการภาษีอย่างไร?

โดย

 


 
ออกจากงาน จัดการภาษีอย่างไร?

         คำถามแรกที่ควรถามตัวเอง คือ เมื่อออกจากงานแล้ว มีอะไรที่จะได้รับบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินชดเชยตามกฎหมาย เงินที่นายจ้างให้พิเศษ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ เพราะการแยกเงินก้อนเหล่านี้ออกมา จะทำให้เราบริหารและจัดการภาษีได้ง่ายขึ้น บทความนี้จะแบ่งเงินออกเป็น 3 กลุ่มที่ได้รับ นั่นคือ

1. เงินเดือนที่ได้รับจากการทำงาน และเงินได้ที่ได้รับหลังออกจากงาน
         เงินก้อนแรก คือ เงินเดือน โดยเงินเดือนที่เราได้รับจะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย (มาตรา 40(1) ซึ่งเงินเดือนทั้งหมดที่ได้รับทั้งปี ต้องนำมาคำนวณภาษีทั้งหมด ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม ดังนั้น ในส่วนแรกนี้สรุปให้ดีก่อนว่า เรามีรายได้จากไหนบ้าง ทั้งก่อนลาออกจากงาน (เงินเดือน) และหลังลาออกจากงาน (เงินเดือน หรือรายได้ประเภทอื่น) ซึ่งทั้งหมด เราต้องนำมายื่นภาษีให้ถูกต้อง

2. เงินพิเศษที่นายจ้างมอบให้
         ถ้าออกจากงานแล้ว ได้เงินพิเศษที่นายจ้างมอบให้นอกเหนือจากเงินเดือน คำถามที่เราต้องถามให้ชัด คือ เงินพิเศษที่ว่านี้คืออะไร? มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีหรือเปล่า
         โดยเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีที่เราคุ้นเคย คือ เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ที่เรามักจะได้ยินว่ายกเว้นภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท มีหลักคิดตามนี้
                  - เงินชดเชยที่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายแรงงาน จะต้องเป็นการถูกเลิกจ้างจริงๆ เท่านั้น (เป็นไปตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน) แต่ส่วนใหญ่แล้วบริษัทมักจะให้พนักงานเซ็นจดหมายยินยอมออก (เสมือนลาออก) เพื่อป้องกันการฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น เงินที่ได้รับตามกรณีนี้จะไม่ถือเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้
                  - การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จำนวน 300,000 บาท คือ เราต้องคำนวณเงินได้ที่ได้รับตามสิทธิชดเชย เป็นจำนวนวัน เพื่อหาจำนวนเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีก่อน ซึ่งบางครั้งอาจจะน้อยกว่า 300,000 บาท

3. เงินที่ได้เมื่อออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
         หากบริษัทมีสิทธิประโยชน์ส่วนของกองทุนสำรองเลียงชีพ (Provident Fund) ก็คือ เงินและผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเงินที่เราได้รับเมื่อตัดสินใจออกจากกองทุน ประกอบด้วยเงิน 3 ส่วน ดังนี้
         เงินสะสม (เงินต้นส่วนที่เรานำส่ง) หรือเงินที่หักจากเงินเดือนของเราทุกๆ เดือน เงินส่วนนี้เราจะใช้สิทธิ ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเราจะได้รับเงินส่วนนี้ทั้งจำนวนเมื่อตัดสินใจออกจากกองทุน
         เงินสมทบ (เงินต้นส่วนที่นายจ้างให้) เงินส่วนนี้จะเป็นเงินที่นายจ้างสมทบเพิ่มให้ทุกๆ เดือน แต่เมื่อเราตัดสินใจออกจากกองทุนแล้ว เงินส่วนนี้อาจจะได้รับไม่เต็มทั้งจำนวน ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนที่กำหนดไว้ (โดยปกติการได้รับเงินก้อนนี้เต็มจำนวน มักจะได้ในกรณีที่ออกจากงานตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เสียชีวิต หรือทุพพลภาพ)
         ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุน (ผลตอบแทนจากเงินต้นที่สะสมและสมทบ) เงินส่วนนี้จะได้รับจากผลตอบแทนในการลงทุนที่เราเลือกไว้ โดยจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนที่เราเลือก
         โดยเงินส่วนที่เราสะสมนั้น จะไม่มีผลต่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นส่วนที่เราได้สะสมเอง แต่ในส่วนที่นำมาคำนวณภาษีนั้น จะต้องเป็นเงินสมทบ กับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุน
         ดังนั้น หากเราออกจากกองทุนก่อนครบกำหนดอายุและสมาชิกสภาพ เราต้องนำเงินส่วนนี้มาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

 

  บางส่วนจากบทความ : ออกจากงาน จัดการภาษีอย่างไร? (ตอนที่ 1)
  โดย : TAXBugnoms / Section : Lifestyle / Column : Smart Money for Salaryman

  อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 21 ฉบับที่ 244 เดือนเมษายน 2565

 
 
FaLang translation system by Faboba