เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย นายจ้างมีหน้าที่อย่างไรบ้าง

โดย

 


 
เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
นายจ้างมีหน้าที่อย่างไรบ้าง


      ประการแรก นายจ้างต้องแจ้งการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือสูญหายต่อสำนักงานประกันสังคม ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่นายจ้างทราบ หรือควรจะได้ทราบถึงการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือสูญหาย (มาตรา 48) ถ้านายจ้างฝ่าฝืน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 62)

      อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นายจ้างไม่ได้แจ้งการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง แต่หาก “ความปรากฏต่อเจ้าหน้าที่” เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจที่จะสอบสวนและออกคำสั่งจ่ายเงินทดแทนได้เช่นกัน (มาตรา 50) ดังนั้น เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ลูกจ้าง/หรือคนใกล้ชิดก็สามารถแจ้ง หรือทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบถึงการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยนั้นก็ได้

      ประการที่สอง ต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความหมาะสมแก่อันตราย หรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น (มาตรา 13) ถ้านายจ้างฝ่าฝืน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 62)
      หมายเหตุ : หลักการสำคัญ
      (1) นายจ้างต้อง “ปฏิบัติทันที” ที่ลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย คือ เร็วที่สุด/โรงพยาบาลใกล้ที่สุด
      (2) นายจ้างต้อง “ปฏิบัติอย่างเหมาะสม” กับการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยของลูกจ้าง เช่น ให้การรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลที่มีศักยภาพ หรือความสามารถในการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม
      (3) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ปัจจุบัน คือ กฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563

      ประการที่สาม นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้างโดยไม่ชักช้า เมื่อลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบ (มาตรา 13 วรรคสอง) การจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินทดแทนในกรณีอื่นๆ ตามกฎหมาย ถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องจ่าย แต่เมื่อนายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน กองทุนเงินทดแทนจึงมีหน้าที่จ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินทดแทนในกรณีอื่นๆ แทนนายจ้าง
      
      โดยสรุป คือ เงินค่ารักษาพยาบาล ต้องจ่ายตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ไม่ใช่จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลทันที หรือตามความเหมาะสมของการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย เพราะการจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาล “ทันทีตามความเหมาะสม” เป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนก็จะเป็นความผิด ส่วนค่ารักษาพยาบาลเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้านายจ้างทดรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปมาก และเบิกคืนได้น้อยกว่า เงินส่วนที่เกินกว่าที่กฎกระทรวงกำหนด เป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายจ้าง-ลูกจ้าง และกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้นายจ้างมีสิทธิเรียกคืนเพิ่มเติมได้อย่างใด

 

  บางส่วนจากบทความ : “หมายเหตุ : หลักการสำคัญ หน้าที่ของนายจ้าง
  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน”
  โดย : ปรานี สุขศรี / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : ประกันสังคม

  อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 21 ฉบับที่ 244 เดือนเมษายน 2565

 
 
FaLang translation system by Faboba