บทสรุปงบการเงิน

โดย

 


 
บทสรุปงบการเงิน


      เมื่อนักบัญชีจัดทำงบการเงินเรียบร้อยการจัดทำบทสรุปงบการเงินสำหรับผู้บริหารควรมีหัวข้อเรื่องใดบ้าง (หลักการพื้นฐานในแต่ละหัวข้อควรต้องสรุปได้ว่าดีขึ้นหรือแย่ลง โดยจะเน้นที่งบแสดงฐานะการเงินกับงบกำไรขาดทุนเป็นหลัก)

      1. งบแสดงฐานะการเงิน หัวข้อ-เรื่องที่ควรจัดบทสรุปสำหรับผู้บริหาร
            1.1 สภาพคล่อง
            สภาพคล่องของบริษัทเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือแย่ลง สภาพคล่องของบริษัทมีเพียงพอที่จะสามารถดำรงอยู่ในอนาคตได้หรือไม่ อย่างไร ดังนั้นการที่จะสรุปประเด็นนี้ นักบัญชีจึงต้องเข้าใจความหมายของสภาพคล่อง
            สรุปคือ สภาพคล่องที่ดี เราควรนำความรู้เรื่องการวิเคราะห์งบการเงินมาประยุกต์ใช้ ได้แก่

 สินทรัพย์หมุนเวียนเร็ว
____________________________
หนี้สินหมุนเวียน + (Fix Cost x 6 เดือน)

            1.2 การบริหารสินทรัพย์
            
การบริหารสินทรัพย์ของบริษัทดีขึ้นหรือแย่ลง หัวข้อที่เราควรพิจารณา ได้แก่
                  • ลูกหนี้การค้า คุณภาพของลูกหนี้การค้าของบริษัทเป็นอย่างไร ค้างนานหรือไม่ การเก็บหนี้เป็นปกติหรือไม่ มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญหรือไม่ หรือมีการตั้งค่าเผื่อฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่
                  • สินค้าคงเหลือ การจัดการสินค้าคงเหลือของบริษัทเป็นอย่างไร มีสินค้าสูญหายหรือไม่ หรือสูญหายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหรือไม่ รวมถึงมีสินค้าค้างนานจำนวนมากจนต้องมีการประเมินเพื่อตั้งค่าเผื่อการตีราคาสินค้าลดลงหรือไม่
                  • ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ สำหรับรายการนี้ควรพิจารณาไม่ใช้เพียงแค่ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ แต่ควรต้องเพิ่มเนื้อหาสาระในเรื่องการใช้ประโยชน์ ความคุ้มค่าของการใช้สินทรัพย์ ผลผลิตที่ได้ รวมถึงค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา การหยุดชะงักมีหรือไม่ (สรุปง่าย ๆ คือ ได้ใช้หาผลประโยชน์คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่)

          1.3 การรักษาระดับการก่อหนี้
          เรากลับมาดูฝั่งหนี้สินกับส่วนของผู้เป็นเจ้าของว่าเป็นอย่างไรบ้าง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เราจะดูสัดส่วนโครงสร้างหนี้สินต่อทุนนั่นเองว่าบริษัทมีลักษณะอย่างไร ซึ่งค่าเฉลี่ยก็อยู่สัดส่วนประมาณ 2 : 1 ดังนั้นถ้าสัดส่วนมากกว่า 2 : 1 คงต้องระมัดระวังให้มาก ในเงื่อนไขการปฏิบัติการชำระหนี้นั่นเอง

          1.4 กำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร
          หากกำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร เราควรเสนอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาในการจัดสรร ดังนั้นนโยบายการจ่ายปันผลจึงควรขอรับทราบนโยบายจากผู้บริหาร

     2. งบกำไรขาดทุน หัวข้อเรื่องที่ควรจัดบทสรุปสำหรับผู้บริหาร
          2.1 การเติบโตของรายได้
          รายได้ของบริษัทเจริญเติบโตดีขึ้นหรือแย่ลง เราควรต้องเน้นการเติบโตที่รายได้หลักจากการประกอบกิจการ ซึ่งการเติบโตของรายได้หลัก ควรพิจารณาแยกตามผลิตภัณฑ์

          2.2 การรักษาระดับกำไรขั้นต้น
          การเปรียบเทียบรายได้หลักกับต้นทุนขาย/หรือต้นทุนบริการ อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ซึ่งหลักการควรต้องพิจารณาการรักษาระดับกำไรขั้นต้นแยกตามผลิตภัณฑ์ (นั้นหมายความว่าบัญชีควรต้องมีฐานข้อมูลแยกตามรายละเอียดผลิตภัณฑ์)

          2.3 การบริหารค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร การบริหารค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งในการพิจารณาจึงมิใช่ดูเพียงการเปรียบเทียบกับปีก่อน แต่ในหลักการควรเปรียบเทียบกับงบประมาณ ดังนั้นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งทีบริษัทควรนำมาประยุกต์ใช้ คือ การจัดทำงบประมาณ

          2.4 ต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนทางการเงินที่แสดงจำนวนเงินในงบกำไรขาดทุน เราควรต้องนำมาคำนวณเพื่อหาอัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ย แล้วนำไปตรวจสอบกับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาว่าใกล้เคียงกันหรือไม่ แต่สิ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือ อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทจ่ายอยู่นั้น มีสถาบันการเงินไหนที่สนับสนุนโดยให้อัตราที่ต่ำกว่าหรือไม่ ถ้ามีควรปรึกษากับผู้บริหารในการบริหารต้นทุนทางการเงินเพื่อเลือกอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่านั่นเอง
     
          2.5 ภาษีเงินได้ สำหรับภาษีเงินได้ สิ่งที่นักบัญชีควรคำนึงคือ บริษัทเสียภาษีอย่างประหยัดหรือไม่ ดังนั้นการเสียภาษีอย่างประหยัด จึงอยู่ภายใต้เนื้อหาสาระสำคัญ 2 ประการ ที่นักบัญชีต้องใช้ความรู้อย่างเพียงพอ คือ
               1. การคำนวณภาษีถูกต้องหรือไม่ นั่นหมายความว่าหากถูกตรวจสอบภาษีต้องไม่เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
               2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี บริษัทได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่ นั่นหมายความว่าหากบริษัทไม่ใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี ถึงแม้ทางบัญชีจะคำนวณภาษีถูกต้องก็ตาม แต่ในหลักการยังถือว่าบริษัทเสียภาษียังไม่ประหยัด

          ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นนักบัญชีจึงควรนำเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปวางแผนภาษีล่วงหน้า เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท

บางส่วนจากบทความ : “บทสรุปงบการเงินสำหรับผู้บริหาร”
โดย : Mr.knowing Section : Accounting Style / Column : CPD Coach

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 232 เดือนเมษายน 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba