กรณีศึกษา ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป เกินร้อยละ 25 โดยไม่มีเหตุอันควร

โดย

 


 
กรณีศึกษา ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป
เกินร้อยละ 25 โดยไม่มีเหตุอันควร


       การทำแบบประมาณการกำไรสุทธิเพื่อยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด. 51 นั้น จะว่ายากก็ยากเพราะต้องใช้ดุลยพินิจและระมัดระวัง จะว่าง่ายก็ไม่เชิงเพราะการนำตัวเลขของเงินได้มาคำนวณโดยเอาข้อมูลจริงมาได้เพียงบางส่วน ไม่สามารถบอกได้ว่าในเวลาที่เหลืออยู่อีกกว่าครึ่งรอบบัญชีจะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจบ้าง แต่ความเสี่ยงที่หนักสุดของเรื่องนี้คือการที่จะต้องเสียเงินเพิ่มในจำนวนสูงสุดถึง 20% ของภาษีที่ชำระไม่ครบ หากประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจริง ถึงแม้ว่าบางกิจการจะมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ใช้เครดิตในแบบ ภ.ง.ด.51 สูงกว่าจำนวนที่ต้องชำระก็ตาม ทำให้การเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นแบบนี้จะต้องเข้าใจและมีข้อมูลละเอียด

       สำหรับกรณีที่สาเหตุของการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 นั้น ไม่เข้ากรณีเหตุอันควร กรมสรรพากรยังให้อำนาจเจ้าพนักงานในการใช้ดุลยพินิจว่าหากมีข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่เจ้าพนักงานเห็นสมควรหรือบริษัทฯ ได้ชี้แจงตามข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาครึ่งปีหลัง เจ้าพนักงานมีสิทธิ์ปรับปรุงตัวเลขกำไรแล้วทำให้ประมาณการกำไรขาดไปไม่เกินร้อยละ 25 ก็สามารถพิจารณาเป็นเหตุอันควรในการงดเบี้ยปรับได้ โดยเสนอเรื่องตามขั้นตอนการพิจารณาต่อไปโดยให้สำนักตรวจสอบภาษีกลางและสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่เสนอความเห็นผ่านสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษีเพื่อขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร สำหรับสำนักงานสรรพากรพื้นที่ให้เสนอความเห็นเพื่อขออนุมัติต่อสรรพากรภาค

       จากกรณีข้างต้นกรมสรรพากรได้อธิบายไว้ในตัวอย่างการพิจารณาในคู่มือคำอธิบายที่พอจะนำมาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อการทำความเข้าใจในกรณีวรรคก่อนได้พอสังเขป
       ตัวอย่างที่ 1
       กรณีบริษัทฯ มีการขายทรัพย์สินในเดือนกรกฎาคมของรอบระยะเวลาบัญชีโดยมีกำไรจากการขายเครื่องจักรจำนวนหนึ่ง จนทำให้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ในกรณีนี้แม้ว่าจะเป็นกรณีการขายทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่เข้ากรณีเหตุอันควร แต่ด้วยความที่การขายทรัพย์สินนั้นเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนั้นยังอยู่ในช่วงที่บริษัทฯ สามารถทราบและรวมอยู่ในเหตุการณ์ที่ใช้ในการประมาณการกำไรได้ จึงไม่เข้ากรณีเหตุอันควรที่จะของดการจัดเก็บเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ได้ เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถนำรายการนี้มาปรับปรุงแบบได้

       ตัวอย่างที่ 2
       กรณีบริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินค้าโดยการส่งออกในช่วงเวลาเดือนกันยายนถึงธันวาคม โดยเป็นคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหม่ ทำให้มีกำไรขั้นต้นจำนวนหนึ่งจนทำให้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาธุรกิจแล้วการคาดการณ์ยอดรายได้จากการส่งออกโดยปกตินั้นกระทำได้ไม่ยากหรือซับซ้อน จึงทำให้เหตุการณ์ข้างต้นไม่เข้ากรณีเหตุอันควร แต่ด้วยเหตุที่ยอดคำสั่งซื้อดังกล่าวเกิดจากลูกค้ารายใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์ใด ๆ หรือการติดต่อใด ๆ ในระหว่างการเตรียมแบบประมาณการ ทำให้เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลยพินิจในการนำรายการดังกล่าวมาปรับปรุงแบบเพื่อพิจารณาเป็นเหตุอันควรได้ เพื่อของดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี โดยขออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

 

บางส่วนจากบทความ : “ประมาณการเงินได้ครึ่งปีกับการยื่น ภ.ง.ด.51”
โดย : วิทยา เอกวิรุฬห์พร Section : Accounting Style / Column : CPD Talk

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 232 เดือนเมษายน 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba