“ขาย” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดย

 


 
“ขาย” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม


      การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการ หากมีรายได้ตั้งแต่ 1,800,000 บาทขึ้นไป ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบธุรกิจขายสินค้ามีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีการส่งมอบสินค้า หรือได้รับเงิน หรือออกใบกำกับภาษี
      คำว่า “ขาย” ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ประมวลรัษฎากรได้กำหนดไว้ในมาตรา 77/1 (8) ดังนี้
      (8) “ขาย” หมายความว่าจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง
            (ก) สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้ว หรือสัญญาจะขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
            (ข) ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย
            (ค) ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
            (ง) นำสินค้าไปใช้ ไม่ว่าประการใด ๆ เว้นแต่การนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            (จ) มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง
            (ฉ) มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากันหรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
            (ช) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

      (9) “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า

      (10) “บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึง
            (ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            (ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคาร หรือซื้อพันธบัตร หรือหลักทรัพย์
            (ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
      
      (10/1) “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่าบริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

      (10/2) “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายความว่าตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ

      ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะต้องจดทะเบียน ได้แก่ ผู้ขายสินค้า ผู้ให้บริการ และผู้นำเข้าหากมีรายรับตั้งแต่ 1,800,000 บาทขึ้นไป โดยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันคือ 7% และ 0% สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็คือ คำว่า “ขาย” “สินค้า” และ”ให้บริการ” เนื่องจากการกระทำใดที่เข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา 77/1 (8) (9)(10) จะต้องเสียภาษีขาย และยื่นแบบ ภ.พ.30 นำส่งกรมสรรพากร

 

บางส่วนจากบทความ : : “การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าที่ต้องระมัดระวัง”
โดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร ection : Tax Talk / Column : Tax & Accounting

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 232 เดือนเมษายน 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba