สาระสำคัญ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2566

โดย

 


 
สาระสำคัญ
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2566


      พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีการแก้ไขไปแล้ว 7 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดแก้ไขครั้งที่ 7 ในปี พ.ศ. 2562
     และในปี 2566 นี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2566 ได้ประกาศในราชกิจานุเบกษา และกฎหมายจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วัน นับแต่วันประกาศ หรือมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
     พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญ คือ เพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23/1 กำหนดสิทธิและหน้าที่นายจ้างกับลูกจ้างในกรณีลูกจ้างทำงานนอกสถานประกอบกิจการ หรือสำนักงานของนายจ้าง โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ สมควรแก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกัน ให้ลูกจ้างสามารถนำงานไปทำนอกสถานประกอบกิจการ หรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้าง และเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง ตลอดจนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิง
     สาระสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2566 มีดังต่อไปนี้
     1. เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง และเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้าง หรือในกรณีมีความจำเป็น นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างนำงานในทางการที่จ้าง หรือที่ตกลงให้กับนายจ้าง ซึ่งมีลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบกิจการ หรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้โดยสะดวก ให้ลูกจ้างนำงานดังกล่าวไปทำที่บ้าน หรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ ได้
     2. ให้นายจ้างจัดทำเป็นหนังสือ หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้ โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง อาจตกลงให้มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
          2.1 ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง
          2.2 วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา
          2.3 หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุด รวมทั้งการลาประเภทต่างๆ
          2.4 ขอบเขตหน้าที่การทำงานของลูกจ้าง และการควบคุมหรือกำกับการทำงานของนายจ้าง
          2.5 ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นอันเนื่องจากการทำงาน
     3. ลูกจ้างที่ทำงานนอกสถานประกอบกิจการ หรือนอกสำนักงานของนายจ้าง มีสิทธิตัดขาดการติดต่อจากนายจ้าง (Right to Disconnect) หลังสิ้นสุดการทำงาน กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใดๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน อย่างไรก็ดี หากลักษณะสภาพของงานมีความจำเป็นที่นายจ้างต้องติดต่อสื่อสารกับลูกจ้าง แม้สิ้นสุดการทำงานไปแล้ว นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้เป็นการล่วงหน้าก่อน
     4. ลูกจ้างที่ทำงานนอกสถานประกอบกิจการ หรือนอกสำนักงานของนายจ้าง ได้รับหลักประกัน มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกันกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ หรือนอกสำนักงานของนายจ้าง

หมายเหตุ : อ่าน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2566 ได้ที่ bit.ly/43npWKL

 

บางส่วนจากบทความ : “สาระสำคัญ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2566”
โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 21 ฉบับที่ 245 เดือนพฤษภาคม 2566

 
 
FaLang translation system by Faboba