ขยะอิเล็กทรอนิกส์นับเป็นสินค้าที่ต้องห้าม

โดย

 


 
ขยะอิเล็กทรอนิกส์นับเป็นสินค้าที่ต้องห้าม

   ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นปัญหาสำคัญของไทย จนถึงขั้นมีการครหาว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น “ถังขยะของโลก” หากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไปปัญหาก็จะทับถมขึ้นเรื่อย ๆ ดังเช่นขยะกองมหึมา ส่งผลกระทบโดยรวมต่อประเทศมากขึ้น
   ในการนี้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ในที่สุดภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวโดยเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข การคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ออก “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นไป ส่งผลให้ตั้งแต่นั้นมาขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าต้องห้าม ไม่สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญ 2 ประการคือ
   ประการที่ 1 กำหนดความหมายของ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” หมายถึง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่น ๆ สวิตช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่น ๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ
   ประการที่ 2 ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายดังกล่าวที่ไม่สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้นั้น ต้องเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 84 และตอนที่ 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ โดยเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมจำนวน 428 รายการ
   การออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังกล่าว เป็นผลมาจากการดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาทิ้งในประเทศ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การห้ามนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศย่อมส่งผลเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ภายในประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังช่วยบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีมากขึ้น สนับสนุนแนวคิด Circular Economy และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียในประเทศ
   ดังนั้นผู้นำเข้าจึงต้องตรวจสอบว่าสิ่งที่นำเข้ามานั้นเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 428 รายการนั้นหรือไม่ และยังจะต้องทราบและตระหนักว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็น “ของต้องห้าม” (Prohibited Goods) โดยห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 หากฝ่าฝืนย่อมมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายศุลกากรในความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานนี้ยังรวมถึงผู้ใดที่พยายามจะกระทำความผิดฐานนี้ ก็ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

 

  จากบทความ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของต้องห้าม” Section: Tax Talk / Column: Customs Duty
  อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 42 ฉบับที่ 503 เดือนสิงหาคม 2566
  หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba