ภาษีเงินได้ รายได้จากต่างประเทศ

โดย

 


 
ภาษีเงินได้ รายได้จากต่างประเทศ


    โดยทั่วไปแล้วหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่รัฐหรือรัฐบาลของแต่ละประเทศใช้นั้น จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ประชาชนมีต่อรัฐตามกฎหมายในประเทศนั้น ๆ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ถูกใช้ในการเก็บภาษี มักจะพิจารณาจาก 3 หลักการต่อไปนี้ครับ
    ● หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) หมายถึง ถ้าหากเรามีเงินได้หรือรายได้ในประเทศไหน เราย่อมมีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศนั้น
    ● หลักถิ่นที่อยู่ (Residence Rule) หมายถึง ถ้าหากเราเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนั้น เราย่อมมีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศนั้น
    ● หลักสัญชาติ (Nationality Rule) หรือบางทีเรียกว่า หลักพลเมือง (Citizenship Rule) หมายถึง ถ้าหากเรามีสัญชาติของประเทศนั้น ๆ เราย่อมมีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศนั้น
    สำหรับประเทศไทย จะใช้ “หลักแหล่งเงินได้” และ “หลักถิ่นที่อยู่” โดยระบุไว้ในมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฏากร ดังนี้ครับ


    มาตรา 41 ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

    ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

    ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึง 180 วัน ในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย


    ทีนี้ถ้ามองในประเด็นของหลักถิ่นที่อยู่ ตามประมวลรัษฏากรในมาตรา 41 ข้างต้น ได้กำหนดไว้ว่า ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้ประเทศไทย เมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ข้อ ที่กฎหมายกำหนดไว้ นั่นคือ

  • เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้น (นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม) รวมทั้งหมดถึง 180 วัน
  • นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย

    โดยในช่วงที่ผ่านมา คำว่า “นำเงินได้พึงประเมินเข้ามาในประเทศไทย” ถูกตีความโดยใช้หลักการว่า “นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย” หรือ “นำเงินได้ที่เกิดขึ้นเข้ามาในปีเดียวกัน” ซึ่งแนวทางตีความนี้มีที่มาจากหนังสือที่ กค.0802/696 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 โดยกำหนดไว้เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้เสียภาษีที่มีเงินได้จากต่างประเทศ และถ้าพิจารณาจากแนวทางข้อหารือของกรมสรรพากรที่ตอบคำถามเรื่องนี้ไว้ในช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เราจะเห็นความหมายในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ หากผู้มีเงินได้จากต่างประเทศอยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วัน และนำเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันเข้าประเทศไทย ถึงจะเสียภาษีเงินได้ตามกฎหมายที่ว่านี้

    อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เปลี่ยนแปลงการตีความใหม่เป็นว่า สำหรับผู้มีเงินได้จากต่างประเทศที่อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป ไม่ว่าจะนำเงินได้มาเข้าปีไหน ให้เอามาคำนวณเพื่อเสียภาษีในปีนั้น โดยเริ่มบังคับใช้การตีความกฎหมายแบบนี้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป


  จากบทความ : “การเก็บภาษีเงินได้ รายได้จากต่างประเทศ”
  โดย : TAX Bugnoms Section : Tax Talk / Column : Tax Knowledge
 
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 239 เดือนพฤศจิกายน 2566

 
 
 
FaLang translation system by Faboba