มาตรการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

โดย

 


 
มาตรการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้


    เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้อาศัยฐานอำนาจตามพระราชบัญญัติ
การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ในการออก “ประกาศกระทรวงพาณิชย์” [1] กำหนดข้อห้ามและข้อจำกัดของการส่งออกไม้ กล่าวคือ กำหนดให้ “ไม้พะยูง” เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก กำหนดให้ “ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด” เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และกำหนดให้ “สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้” เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัดของการส่งออก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไม้เหล่านี้จึงต้องทราบถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายโดยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็ย่อมเกิดความเสี่ยงที่จะต้องรับโทษตามกฎหมาย

    มาตรการควบคุมการส่งออกโดยการกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้าม
    
แต่เดิมมาตรการห้ามส่งออกไม้พะยูงมิได้กำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ มีเพียงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 ที่กำหนดห้ามการนำเข้าไม้และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้พะยูง รวมทั้งห้ามการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าห้ามส่งออกไม้พะยูงทุกกรณีออกไปนอกราชอาณาจักร แต่ในปัจจุบันการห้ามส่งออกไม้พะยูงได้ถูกนำมากำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดข้อห้ามในการส่งออกไม้พะยูง ไม่ว่าจะเป็นไม้พะยูงท่อน ไม้พะยูงแปรรูป ไม้พะยูงล้อม และสิ่งประดิษฐ์ของไม้ที่ทำจากไม้พะยูงหรือผลิตภัณฑ์ทุกกรณี ไม้พะยูงเหล่านี้จึงเป็นสินค้าต้องห้ามในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด

    ไม้พะยูงถือเป็นไม้ที่มีราคาแพงเป็นอันดับต้น ๆ สาเหตุสำคัญที่ไม้พะยูงมีราคาพุ่งสูงอย่างไม่น่าเชื่อเป็นเพราะมีความนิยมในการใช้ไม้พะยูงในประเทศจีนเป็นอย่างมาก เพราะไม้พะยูงเป็นไม้ที่มองเห็นแล้วสวยสะดุดตาด้วยเนื้อไม้สีแดงสด ยิ่งเปียกน้ำยิ่งสวย จากคุณสมบัติของไม้ชนิดนี้ที่ฝรั่งเรียกว่า Siamese Rosewood เนื้อละเอียดแข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี โดยความนิยมเริ่มต้นมาตั้งแต่การนำเข้าไม้ชนิดนี้ไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้ามในช่วงที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมถึงการสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ต่อมามีผู้นิยมนำไม้พะยูงไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์เป็นการทั่วไป และนำไปทำเป็นวัตถุมงคลหรือของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ๆ เช่น ปี่เซียะ เทพเจ้าฮก ลก ซิ่ว เป็นต้น จากความนิยมที่มิได้ลดน้อยลงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีการตัดไม้พะยูงเพื่อส่งออกมากขึ้น มีบ่อยครั้งที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการลักลอบตัดไม้พะยูง และถึงขั้นมีนายทุนต่างชาติเข้ามาสร้างเครือข่ายตัดไม้พะยูงในประเทศไทย จากเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ ภาครัฐจึงกำหนดให้ไม้พะยูงเป็นของต้องห้ามส่งออกนอกราชอาณาจักร

    มาตรการควบคุมการส่งออกโดยการกำหนดให้ต้องขออนุญาตส่งออก

    การส่งออก “ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด” จะต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ประกอบกับระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการอนุญาตให้ส่งไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2566 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตและคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตไว้ ดังนี้

  1. การพิจารณาอนุญาตให้ส่งไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดออกไปนอกราชอาณาจักร จะอนุญาตให้ส่งออกได้เฉพาะไม้ที่มีหลักฐานการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
  2. ผู้ขออนุญาตส่งออกต้องยื่นขอรับใบอนุญาตส่งออกที่กรมป่าไม้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมป่าไม้กำหนด พร้อมกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. ใบอนุญาตส่งออกมีอายุ 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต และให้ใช้สำหรับการส่งออกเพียง 1 ครั้งเท่านั้น โดยมีปริมาณการส่งออกตามที่ระบุในสำเนาใบกำกับสินค้า (Invoice) และหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
  4. กรณีไม่อาจส่งออกได้ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ให้ผู้ได้รับอนุญาตยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตที่กรมป่าไม้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ซึ่งการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องกระทำในขณะที่ใบอนุญาตเดิมยังมีอายุการใช้งานอยู่

    มาตรการควบคุมการส่งออกโดยการกำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองประกอบการส่งออก

    การส่งออกสิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากรการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอหนังสือรับรองสิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องแสดงหลักฐานกระบวนการทำไม้และการค้าไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายต่อกรมป่าไม้ ดังนี้

  1. สิ่งประดิษฐ์ของไม้ เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อแสดงต่อศุลกากรประกอบการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศคู่ค้าว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
  2. ถ่านไม้ ต้องมีหนังสือรับรองเพื่อการค้าหรือการส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพื่อแสดงต่อศุลกากรประกอบการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ถ่านที่ได้จากวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ไม้ผงถ่านและถ่านอัด

[1] ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิดเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2566

  จากบทความ “อัปเดตเงื่อนไขการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้”
  Section: Tax Talk / Column: Custom Duty อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...
  วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 506 เดือนพฤศจิกายน 2566 หรือสมัครสมาชิก
  “วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
 

 

FaLang translation system by Faboba