ภาษีเงินได้จากการขาย Online

โดย

 


 
ภาษีเงินได้จากการขาย Online


     การขายสินค้าหรือให้บริการ Online ภาระภาษีไม่ได้แตกต่างไปจากธุรกิจปกติทั่วไป คือ ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยขอนำเสนอ “ภาษีเงินได้” ที่ต้องเสียดังนี้
     ภาษีเงินได้ หากผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล แล้วแต่กรณี ดังนี้
     1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นบุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือ ภ.ง.ด.94 สำหรับภาษีเงินได้กลางปี และ ภ.ง.ด.90 หรือภาษีเงินได้ปลายปี บุคคลธรรมดามีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (8) การขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งหากยื่นแบบเสียภาษีโดยการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาจะหักได้ในอัตราร้อย 60 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ประกอบการเลือกเสียภาษีบุคคลธรรมดาตามจริงก็สามารถกระทำได้ การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะใช้เกณฑ์เงินสด อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
     อย่างไรก็ดี หากผู้มีเงินได้จากกิจการตามที่ระบุไว้แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2517 และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้น ปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์
     2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็คือ “กำไรสุทธิ” ซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี และรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้มีกำหนด 12 เดือน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะน้อยกว่า 12 เดือนก็ได้ คือ
     (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่ จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้
     (ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคำร้องต่ออธิบดีขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีเช่นว่านี้ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตสุดแต่จะเห็นสมควร คำสั่งเช่นว่านั้นต้องแจ้งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ยื่นคำร้องทราบภายในเวลาอันสมควร และในกรณีที่อธิบดีสั่งอนุญาต ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนด
     การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
     การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะเสียภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.51 สำหรับภาษีกลางปี และ ภ.ง.ด.50 สำหรับสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี พร้อมงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากรแล้วแต่กรณี
     อัตรากำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปจะเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราร้อยละ 20 แต่หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นกิจการขนาดย่อม SMEs ซึ่งต้องมีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท จะเสียภาษีจากกำไรสุทธิในอัตราก้าวดังนี้ ) 

 

กำไรสุทธิ อัตราภาษี
1-300,000 บาท ยกเว้น
300,001 – 3,000,000 บาท  15%
3,000,000 บาทขึ้นไป 20%



  จากบทความ : “รู้จักธุรกิจขาย Online” โดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
  Section : Tax Talk / Column : Tax & Accounting
  อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 20 ฉบับที่ 240 เดือนธันวาคม 2566 

 
 
 
FaLang translation system by Faboba