เมื่อลูกจ้างต้องทำงานในวันหยุด

โดย

 


 
เมื่อลูกจ้างต้องทำงานในวันหยุด


     โดยทั่วไปลูกจ้างมีหน้าที่ทำงานให้แก่นายจ้างในวันและเวลาทำงานปกติเท่านั้น ลูกจ้างไม่มีหน้าที่ทำงานในวันหยุดให้แก่นายจ้าง ดังนั้น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด โดยมีข้อยกเว้น 4 กรณี คือ

     กรณีที่ 1 : หากงานที่ลูกจ้างทำมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน ซึ่งคำว่า “ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน” หมายความว่า งานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ หากหยุดก่อนงานที่ทำนั้นเสร็จ งานที่ทำจะเสียหาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985-2986/2543)

     กรณีที่ 2 : งานฉุกเฉิน คำว่า “งานฉุกเฉิน” หมายถึง งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า และงานนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นในทันที มิฉะนั้น งานที่เกิดขึ้นนั้นจะเสียหาย เป็นกรณีที่มีงานหนึ่งงานใดเกิดขึ้น ต้องทำงานนั้นให้แล้วเสร็จเดี๋ยวนั้น มิฉะนั้น งานนั้นจะเสียหาย เช่น ในระหว่างดำเนินกระบวนการผลิต เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในเครื่องจักร หากไม่ซ่อมแซมเครื่องจักรเดี๋ยวนั้นจะเกิดเพลิงไหม้ เกิดระเบิด งานที่ทำจะเสียหาย นับว่าเป็นงานฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี ในกรณีที่นายจ้างต้องเร่งกระบวนการผลิต เช่น ได้รับคำสั่งซื้อและวันส่งมอบสินค้าแล้ว หากทำงานในเวลาทำงานปกติ จะส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อไม่ทัน อาจถูกปรับตามสัญญา ยังไม่ถือว่าเป็นเหตุฉุกเฉิน นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดโดยลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้ 

     กรณีที่ 3 : หากเป็นการทำงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหารเครื่องดื่ม สมาคม สถานพยาบาล ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างที่ประกอบกิจการ “โรงแรม” (Hotel) ซึ่งหมายถึง สถานที่ที่ให้บริการเกี่ยวกับผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวมาเข้าพักแรม อาจเป็นโรงแรมสำหรับผู้พักชั่วคราว ผู้พักประจำ หรือพักตากอากาศก็ได้ ส่วน “สถานมหรสพ”(Entertainment Venue) หมายถึง อาคารสถานที่ใช้สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี รวมทั้งงานรื่นเริงอย่างอื่น เช่น โรงละคร โรงภาพยนตร์ สถานที่จัดแสดงดนตรี ฯลฯ “งานขนส่ง” (Transportation Work) หมายถึง งานเคลื่อนย้ายคน สินค้า หรือบริการจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง เช่น งานขับรถส่งผู้โดยสาร สินค้า หรือสิ่งของอื่น จากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง “งานในร้านขายอาหารหรือเครื่องดื่ม” (Food and Drink Shop Work) ซึ่งหมายถึง การประกอบกิจการให้การบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มแก่คนเดินทาง นักท่องเที่ยว หรือประชาชนทั่วไป โดยจัดเตรียมที่นั่งให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารภายในสถานที่ที่ให้บริการ ส่วน “สมาคม” (Association) ซึ่งหมายถึง แหล่งหรือที่ประชุมของคนที่มีจุดประสงค์เดียวกัน และมุ่งทำประโยชน์ร่วมกัน เช่น สมาคมโรงแรม สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้สื่อข่าว ฯลฯ เป็นต้น ส่วน “สถานพยาบาล” (Hospital) หมายถึง สถานที่ รวมถึงยานพาหนะซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ เช่น คลินิกรักษาโรค สถานพยาบาล โรงพยาบาล ฯลฯ หากลูกจ้างทำงานในงานหรือกิจการดังกล่าว นายจ้างมีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดได้ เนื่องจากลักษณะและสภาพของงานจะมีลูกค้าหรือผู้ใช้บริการจำนวนมากในช่วงวันหยุด

     กรณีที่ 4 : เพื่อประโยชน์ในการผลิต การจำหน่าย และการบริการ นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเท่าที่จำเป็น โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ หากลูกจ้างยินยอมทำงานในวันหยุด นายจ้างก็สามารถสั่งให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดได้ เพราะการทำงานในวันหยุดจะมีผลทำให้ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือไปจากค่าจ้างปกติ การให้ความยินยอมของลูกจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบไว้ จึงอาจทำด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ เพียงแต่ในทางปฏิบัติเพื่อความชัดเจน นายจ้างมักทำหลักฐานการให้ความยินยอมทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร และหากลูกจ้างยินยอมมาทำงานในวันหยุด แต่ต่อมาไม่มาทำงานในวันหยุด ต้องถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ เพราะนายจ้างเสนอให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุด และลูกจ้างสนองรับแล้ว จึงก่อให้เกิดหน้าที่ที่ลูกจ้างต้องมาทำงานในวันหยุดให้แก่นายจ้าง คดีเรื่องหนึ่ง ลูกจ้างลงชื่อรับว่าจะมาทำงานในวันหยุดตามประเพณี แล้วไม่มาทำงาน โดยอ้างว่าวันดังกล่าวเป็นวันหยุดตามประเพณี ไม่มีหน้าที่ต้องทำงานในวันดังกล่าว ศาลฎีกาวินิจฉัย ถือได้ว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 255/2528) เป็นต้น

  บางส่วนจากบทความ : เมื่อลูกจ้างต้องทำงานในวันหยุด
โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 254 เดือนกุมภาพันธ์ 2567

 
 
 
FaLang translation system by Faboba