การปรับปรุงกฎหมาย กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไข ของการเป็นผู้ทำบัญชี

โดย

 


 
การปรับปรุงกฎหมาย กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไข
ของการเป็นผู้ทำบัญชี


      ในส่วนของการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ในระหว่างการปรับปรุงกฎหมาย และคาดการณ์ว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการ (ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี) และบุคคลทั่วไปว่า

      “ผู้ทำบัญชีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนั้นเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชี และมีความรู้ความเข้าใจในงานรับผิดชอบของตนเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543

      ด้วยการเพิ่มเป็นเงื่อนไขของการขึ้นทะเบียนเกี่ยวกับเรื่องการทดสอบความรู้ก่อนการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม ดังนั้น ภายหลังการแก้ไขกฎหมายนี้และประกาศใช้แล้ว จะสรุปได้ว่า ผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีได้นั้นต้องมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

      1. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

      2. มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำบัญชีได้

      3. เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 (ในส่วนนี้มีเงื่อนไขคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีเพิ่มเติม ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป)

      4. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เนื่องจากกระทำความผิดตามฐานความผิดหรือกฎหมายที่กำหนดในมาตรา 39 (3) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 เว้นแต่ต้องคำพิพากษาหรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

      5. มีคุณวุฒิการศึกษา ดังต่อไปนี้

      ก. วุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา หรือ ปวส.ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า สามารถเป็นผู้ทำบัญชีของกิจการดังนี้ได้
            - ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
            - บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่ง ณ วันปิดบัญชีในรอบปีบัญชีที่ผ่านมามีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมและรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท

      (กรณีที่ทุนจดทะเบียน สินทรัพย์รวม หรือรายได้รวม เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ผู้ทำบัญชีขาดคุณสมบัติในข้อนี้ ให้ผู้ทำบัญชียังคงสามารถปฏิบัติงานในฐานะผู้ทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีรายนั้นต่อไปได้เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลง)

      ข. วุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่า สามารถเป็นผู้ทำบัญชีของกิจการดังนี้ได้
            - ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่ง ณ วันปิดบัญชีในรอบปีบัญชีที่ผ่านมามีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมและรายได้รวมเกิน 30 ล้านบาท
            - บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
            - นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
            - กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร
            - ผู้ประกอบธุรกิจธนาคาร เงินทุน หลักทรัพย์ เครดิตฟองซิเอร์ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย
            - ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

      ค. กรณีที่เป็นการเริ่มทำบัญชีรอบปีบัญชีแรกของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี วุฒิการศึกษาของผู้ทำบัญชีให้พิจารณาโดยใช้เกณฑ์ทุนจดทะเบียนตามข้อ (ก.) และ (ข.) แล้วแต่กรณี

      6. เข้ารับการอบรมและผ่านการทดสอบตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด*** ซึ่งในส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้ การอบรม (Orientation) จะดำเนินการผ่านระบบ e-learning โดยมีหัวข้อที่ต้องอบรมและทดสอบ ดังต่อไปนี้


      ในส่วนของการทดสอบ ผู้ที่ประสงค์ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีจะต้องอบรม และทำการทดสอบโดยต้องผ่านการทดสอบที่เกณฑ์ระดับ 60% 

      7. เงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีครั้งแรก ในกรณีที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีครั้งแรก จะต้องผ่านการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี (CPD) ตามสัดส่วนจำนวนเดือนนับตั้งแต่วันที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับแจ้งเป็นผู้ทำบัญชี

      ในส่วนของการเฉลี่ยตามสัดส่วนของจำนวนเดือนนั้น มีเกณฑ์ให้จดจำง่าย ๆ ดังนี้

  1. เฉลี่ยเดือนละ 1 ชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ
  2. กรณีวันที่กรมรับแจ้งการขึ้นทะเบียนนับได้เกิน 15 วันขึ้นไป ให้นับเป็น 1 เดือน หากน้อยกว่าหรือเท่ากับ 15 วันให้ปัดเศษทิ้ง
  3. จำนวนชั่วโมงที่ต้องเก็บสะสมตามเกณฑ์ข้างต้นต้องเป็นชั่วโมงการพัฒนาความรู้ทางด้านบัญชีอย่างน้อย ครึ่งหนึ่งตามเกณฑ์ทั่วไป

      ลองดูกรณีตัวอย่างการนับชั่วโมงกันครับ


      ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า เงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีในครั้งแรก ต้องมีคุณสมบัติครบทุกเงื่อนไข โดยมีเงื่อนไขเรื่องการอบรมและทดสอบ และจำนวนชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นมา จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ นอกเหนือไปจากคุณสมบัติอื่น ๆ ทั้งตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ที่มีมาแต่เดิม

 

  จากบทความ : New Version คุณสมบัติและเงื่อนไขการเป็นผู้ทำบัญชี มีอะไรบ้าง ?
โดย : วิทยา เอกวิรุฬห์พร/ Section : Accounting Style / Column : CPD Talk
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร CPD & Account ปีที่ 21 ฉบับที่ 242 เดือนกุมภาพันธ์ 2567

 
 
 
FaLang translation system by Faboba