การนับอายุงาน ในการจ่ายค่าชดเชย

โดย

 


 
การนับอายุงาน ในการจ่ายค่าชดเชย


      เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 บัญญัติให้ความคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าชดเชยไว้ โดยมีสาระสำคัญว่า ในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป เมื่อไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่ลูกจ้าง อัตราค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างนี้ จะแปรผันตามอายุงานหรือระยะเวลาทำงานของลูกจ้าง ดังนั้น เพื่อใช้คำนวณค่าชดเชยต้องนับอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมาย มีรายละเอียด ดังนี้

      1) นับระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดสัญญาจ้าง การนับระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ต้องนับตั้งแต่ลูกจ้างเข้าทำงานวันแรกจนถึงวันที่ถูกเลิกจ้าง
      2) ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างที่เป็นนิติบุคล แม้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น แต่ลูกจ้างยังคงทำงานกับนิติบุคคลเรื่อยมา การนับอายุงานหรือระยะเวลาทำงานของลูกจ้างต้องนับต่อเนื่องกันไป ลูกจ้างที่ทำงานกับห้างหุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ ที่เป็นนิติบุคคล เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือเปลี่ยนแปลงเจ้าของกิจการ แต่นิติบุคคลยังคงเป็นนิติบุคคลเดิม ลูกจ้างที่ทำงานกับนิติบุคคลดังกล่าวมีสิทธินับอายุงานหรือระยะเวลาทำงานเรื่อยมา
      3) การนับอายุงาน หรือระยะเวลาทำงาน นับจากระยะเวลาที่เป็นนายจ้างลูกจ้างกัน ไม่ใช่นับตามระยะเวลาตามที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้าง การนับอายุงาน หรือระยะเวลาทำงานของลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 นับตามระยะเวลาที่ลูกจ้างมีสถานภาพเป็นลูกจ้างของนายจ้าง แม้จะมีการจ้างแบบมีกำหนดเวลาจ้างไว้ชัดเจนแน่นอน แต่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้าง จะนับอายุงานหรือระยะเวลาทำงานจนถึงวันที่นายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น ไม่ใช่ถืออายุงานหรือระยะเวลาทำงานตามระยะเวลาทั้งหมดที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง
      4) กรณีรับโอนลูกจ้างโอนมาจากนายจ้างอื่น อาจต้องนับอายุงานเดิมรวมเข้าด้วย กรณีรับโอนลูกจ้างมาจากนายจ้างอื่น ซึ่งมักเป็นกรณีการโอนสิทธิการเป็นนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคหนึ่ง การโอนสิทธิการเป็นนายจ้างดังกล่าวลูกจ้างจะต้องยินยอมพร้อมใจด้วยจึงจะโอนได้ หากลูกจ้างยินยอมโอนสิทธิการเป็นนายจ้างไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ หากไม่มีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น จะต้องนับอายุงานเดิมของลูกจ้างรวมเข้ากับอายุงานที่ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างใหม่ด้วย
      5) การนับอายุงาน กรณีลูกจ้างเข้าทำงานกับนายจ้างก่อนนายจ้างจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ต้องนับอายุงานตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างเข้าทำงานกับนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างประกอบกิจการและลูกจ้างทำงาน แล้วต่อมานายจ้างจึงจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ฯลฯ การนับอายุงานของลูกจ้างในการคิดค่าชดเชยจะต้องนับตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างเข้าทำงานกับนายจ้าง ไม่ใช่นับตั้งแต่วันจดทะเบียนตั้งนิติบุคคล
      6) อายุงาน หรือระยะเวลาทำงาน จะต้องต่อเนื่องติดต่อกันไปไม่ขาดตอน อายุงานของลูกจ้างที่นำมานับนี้จะต้องต่อเนื่องกันไปไม่ขาดตอน ดังนั้น หากลูกจ้างลาออกหรือถูกเลิกจ้างแล้วกลับเข้ามาทำงานใหม่ในช่วงที่ออกไปนี้ จะนำมานับรวมไม่ได้ เพราะไม่ถือว่าติดต่อกัน
      7) การนับอายุงานกรณีเลิกจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้า และเลิกจ้างทันทีโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า กรณีการจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาจ้างไว้แน่นอน หากนายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิด นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 1 งวดจ่ายค่าจ้าง หรือนายจ้างอาจเลิกจ้างลูกจ้างโดยให้มีผลทันที โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้ แต่ต้องใช้สินจ้างหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 17 และ 17/1 ทั้ง 2 กรณีนี้ การนับอายุงาน หรือระยะเวลาทำงานในการจ่ายค่าชดเชยแตกต่างกัน
      8) การนับอายุงานกรณีลูกจ้างเกษียณอายุแล้วจ้างทำงานต่อ ขึ้นอยู่กับการจ้างต่อหลังเกษียณอายุ ในกรณีที่นายจ้างกำหนดเงื่อนไขเกษียณอายุไว้ในสัญญาจ้าง หรือข้อบังคับการทำงาน เมื่อลูกจ้างครบเกษียณอายุและนายจ้างไม่ให้ทำงานต่อไป ถือว่านายจ้างเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118/1 วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1061/2525)
      9) หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานติดต่อกันโดยไม่สุจริต เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย ให้นับอายุงานทุกช่วงรวมเข้าด้วยกัน ในกรณีนายจ้างมีเจตนาไม่สุจริต ต้องการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย โดยไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องกันจนครบ 120 วัน เช่น ทำงานได้ 110 วัน ก็เลิกจ้าง หลังจากนั้นก็รับลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ พอทำงานได้ 110 วัน ก็เลิกจ้างอีก สลับกันไป เช่นนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 20 บัญญัติว่า “การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน นายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใดและการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตาม ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น”

  บางส่วนจากบทความ : การนับอายุงาน ในการจ่ายค่าชดเชย
โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น / Section : กฎหมายแรงงาน / Column : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่...วารสาร HR Society ปีที่ 22 ฉบับที่ 256 เดือนเมษายน 2567

 
 
FaLang translation system by Faboba