คาร์บอนเครดิตสำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร ?

โดย

 


 
คาร์บอนเครดิตสำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร ?


     Carbon Credit หรือคาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินธุรกิจตามปกติ กลไกการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การปลูกป่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน เป็นต้น มีหน่วยนับเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า tonneCO2eq (เขียนย่อเป็น “tCO2eq” โดยปริมาณดังกล่าวต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานต่าง ๆ และสามารถนำไปซื้อขายระหว่าง “ผู้ต้องการชดเชยการปล่อยคาร์บอน” ซึ่งสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ที่ขายคาร์บอนเครดิตเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับองค์กรตัวเองได้ โดยซื้อจาก “ผู้ที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้” ที่นำมาขาย เนื่องจากเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงมีเครดิตไปขายให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้ ทำให้เกิดแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนใส่ใจลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยภาพรวมได้

     การที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับ “คาร์บอนเครดิต” ด้วยเพราะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา โดยที่ผ่านมาหลาย ๆ องค์กรยังไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเองได้ จึงต้องอาศัยมาตรการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อบรรลุเป้าหมายสีเขียวขององค์กร การทำคาร์บอนเครดิตมาใช้เป็นเครื่องมือจึงสามารถนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ คือ ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเท่ากับ ปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดกลับคืนผ่าน 3 กลไกสำคัญ ได้แก่ การลด การดูดกลับ และการชดเชยด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต

     ความสำคัญต่อความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันผู้บริโภคและนักลงทุนได้เห็นผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนจำนวนมากมองหาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพร้อมด้วยกระบวนการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

     ทั้งนี้ การนำคาร์บอนเครดิตมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจไปให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ความใส่ใจที่องค์กรธุรกิจได้ปฏิบัติตามกฏระเบียบที่สังคมกำหนดไว้ และสามารถสร้างพลังของการมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ข้างได้ไปพร้อม ๆ กันด้วย เมื่อภาคธุรกิจได้รับคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินธุรกิจด้วยกระบวนการลดการปล่อยมลพิษ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ใส่ใจ ในการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการลงทุนในการสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในธุรกิจ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดความคุ้มค่า หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมโครงการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มต้นไม้ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจตั้งอยู่ในเขตนั้น ซึ่งการกระทำของภาคธุรกิจจากที่กล่าวมาสามารถเสริมสร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะและชื่อเสียงของแบรนด์ได้ สอดคล้องกับค่านิยมของลูกค้าปัจจุบันที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ

     ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและการลดความเสี่ยง เห็นได้จากที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกในปัจจุบันได้ออกกฎระเบียบและบังคับใช้ที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีจำนวนมาก เนื่องจากเพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง กฎระเบียบที่หลายประเทศออกนั้นเพื่อจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ออกมา และหากองค์กรธุรกิจใดไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ อาจส่งผลให้เกิดค่าปรับและผลกระทบทางกฎหมายของประเทศนั้น ๆ และอาจถูกแบน ต่อต้าน และไม่มีการสนับสนุนทางการค้าอีกต่อไป...ในที่สุด

     การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจึงเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ ด้วยการรับคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการที่มีการลดการปล่อยมลพิษ ธุรกิจสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบด้านการจำกัดปริมาณคาร์บอน นอกจากนี้ ธุรกิจใดที่เข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตสามารถช่วยทำให้ธุรกิจนำหน้าคู่แข่งด้วยการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบในเชิงรุก ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาแล้วจึงค่อยเข้ามาจัดการแก้ไขในภายหลัง

     การลดความเสี่ยงด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้มีความสำคัญกับภาคธุรกิจ เนื่องจากถ้าธุรกิจใดไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ผลที่ได้ตามมาคืออาจสูญเสียทางการเงินด้วยการโดนค่าปรับ รวมถึงส่งผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทหรือองค์กรได้อีกด้วย
    

  จากบทความ CARBON CREDIT สร้างองค์กรและธุรกิจให้ยั่งยืน
Section: Cover Story / Column: Cover Story อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่...
วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 511 เดือนเมษายน 2567 หรือสมัครสมาชิก
“วารสารเอกสารภาษีอากร” เพื่อรับสิทธิอ่านและสืบค้นบทความ ผ่านระบบ e- Magazine Index

 
 
FaLang translation system by Faboba